หัวเว่ย เป็นแบรนด์ที่เพิ่งเปิดบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย ไปเมื่อต้นปีที่ 59 สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการได้พอสมควร จากเดิมที่จะเน้นทำงานผ่านตัวแทนและพันธมิตรเป็นหลัก และครั้งนี้ หัวเว่ย มาพูดคุยถึง Direction ของบริษัท โดยเฉพาะส่วนของ Huawei Consumer Business ดูแลผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเกี่ยวกับคอนซูเมอร์ ที่เชื่อว่าหลายคนกำลังจับตามอง
- เดิมหัวเว่ยเข้าสู่ตลาดไทยจากธุรกิจด้านเน็ตเวิร์ค มีโครงการขนาดใหญ่แห่งแรกกับ Cat Telecom ติดตั้งโครงข่าย CDMA ทั่วประเทศ เรียกว่าเป็น Reference Site ให้กับหัวเว่ยได้เลย
- แต่กระนั้น แบรนด์หัวเว่ยก็ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะเป็นงานเน็ตเวิร์กนั่นเอง หลังจากนั้นอีกหลายปี หัวเว่ย จึงเริ่มเปิดตัวด้านเทคโนโลยีอื่นๆ รวมถึง สมาร์ทโฟน ที่เข้ามาตีตลาดทั่วโลกและไทย
- ล่าสุดไตรมาสแรกที่ผ่านมา หัวเว่ยมีส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกแล้ว 8.5% และกำลังเพิ่มขึ้น ส่วนในจีน มีส่วนแบ่ง 51.8% เป็นอันดับ 1
- อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย การรับรู้ (Awareness) แบรนด์หัวเว่ย ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยคนไทยรู้จักคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของประชากร และหัวเว่ยต้องการเพิ่มเป็น 85% ในปีนี้ ซึ่งแสดงว่าต้องทำการตลาดอย่างหนัก
- นอกจากแบรนด์สมาร์ทโฟนแล้ว หัวเว่ย ยังเปิดตัว Huawei Watch นาฬิกาอัจฉริยะ และแท็บเล็ต Huawei Matebook (คล้ายๆ Surface ของไมโครซอฟท์) ที่จะทยอยออกสู่ตลาดในปีนี้ พร้อมกับย้ำกว่า แม้ตลาดจะชะลอตัวก็ไม่ใช่เหตุผลให้ยอดขายลดลง ถ้าสินค้าดีจริง คนใช้ก็สนใจซื้อได้เช่นกัน
- รูปแบบการบริหารงานของหัวเว่ย นอกจากการ Focus ที่ R&D แล้ว จะใช้ระบบ The Ratating CEO System หมุนเวียน CEO ทั้ง 3 คนทุก 6 เดือนเพื่อสร้างรูปแบบการทำงานที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ และให้พนักงานได้มีส่วนเป็นเจ้าของร่วมด้วย Employee Stock Ownership System (ESOP) และหัวเว่ยไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มีอิสระในการทำงาน
- ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทย หัวเว่ยลงทุนในไทยด้านต่างๆ รวมแล้ว 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ใน 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนตัวเลขอื่นๆ เช่น เป้าหมาย แผนการลงทุนในอนาคต จะเปิดเผยในวันที่ 7 มิ.ย. นี้ พร้อมกับการเปิดตัว Huawei P9 สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่
บทวิเคราะห์
หัวเว่ยใช้นโยบายเน้นการวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างหนัก เพื่อสร้างความแตกต่างและต้องการบอกให้ผู้บริโภคทั่วโลกรู้ว่า แบรนด์จากจีน ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานเทคโนโลยีดีๆ ออกมาสู้กับเจ้าตลาดอย่าง แอปเปิล และ ซัมซุง ได้เช่นกัน โดยจะเห็นความร่วมมือระหว่าง หัวเว่ย กับแบรนด์พันธมิตรต่างๆ เช่น Leica ด้านกล้องถ่ายรูป, Swarovski ในการออกแบบดีไซน์ กล่าวได้ว่า มีการผนวกเรื่องของแฟชั่นและไลฟ์สไตล์เข้ามาพอสมควร
สำหรับในประเทศไทย หัวเว่ย ยังต้องทำงานอย่างหนัก เพราะตัวเลขสำรวจจากหัวเว่ยเองที่ระบุว่า การรับรู้ของคนไทยต่อแบรนด์ อยู่ที่ 60% (เทียบกับ แอปเปิล และซัมซุง ที่คาดว่าจะสูงกว่า 90%แน่นอน) ถือว่างานนี้ไม่ง่าย และในสถานการณ์ที่ตลาดสมาร์ทโฟนกำลังชะลอตัวด้วยแล้ว เจ้าตลาดอย่างซัมซุงคงไม่ยอมง่ายๆ (แอปเปิลลอยตัว เพราะไม่ต้องทำตลาดเอง)
อื่นๆ คงต้องรอวันที่ 7 มิ.ย. นี้ คาดว่าจะมีข้อมูลเปิดเผยออกมามากขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา