เมื่อดิจิทัลเข้ามา Disrupt ทุกวงการ แม้แต่โลกของความสวยความงามก็ต้องไปดิจิทัล “ลอรีอัล” (L’Oreal) ประกาศแผนมุ่งสู่การเป็น Beauty Tech นำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างประสบการณ์ความสวยงาม
ต้องเป็นผู้บุกเบิก Beauty Tech ในไทย
การเข้าสู่โลกดิจิทัลของธุรกิจความสวยความงามไม่ได้อยู่แค่การเอาสินค้ามาจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ แต่สำหรับ “ลอรีอัล” จะต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ผู้บริโภค
กลายเป็นวิสัยทัศน์ของลอรีอัลไปแล้วในการที่นำพาทิศทางของแบรนด์สู่การเป็น Beauty Tech ทิศทางนี้เริ่มมีการพูดมาหลายปีแล้ว เป็นการสร้างความงามด้วยดิจิทัล สร้างประสบการณ์ความงามด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ AR, AI และการสั่งงานด้วยเสียง
แต่ที่เห็นเป็นรูปธรรมก็เมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง เมื่อลอรีอัลบริษัทแม่ได้ประกาศเข้าซื้อกิจการ ModiFace เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AR และ AI ที่ประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมความงาม เป็นบริษัทสัญชาติแคนาดา เป็นการนำเทคโนโลยีมาต่อยอด รับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้
ModiFace ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในการทำ 3D virtual make-up ทำให้จำลองการแต่งหน้าเสมือนจริงทั้งสีผิว และสีของเครื่องสำอาง ซึ่งตอนนี้แบรนด์ความงามใหญ่ๆ ของโลกได้เลือกใช้เทคโนโลยีนี้เช่นกัน
วิสัยทัศน์นี้ได้ถูกส่งต่อมาที่ประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย ต้องการเป็นผู้นำในการเป็น Beauty Tech ในประเทศไทยให้ได้
อินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า
“แบรนด์ลอรีอัลมีอายุ 100 ปีแล้ว ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีการซื้อกิจการแบรนด์ความงามเข้ามาเสริมพอร์ต แต่ปีที่แล้วไม่ได้ซื้อแบรนด์บิวตี้ ได้ซื้อบริษัทเทคโนโลยีอย่าง ModiFace ถือว่าเป็นก้าวแรกในการเข้าสู่ Beauty Tech จากนั้นก็เริ่มมีการเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งตัวผลิตภัณฑ์มีการทดลองเปลีย่นจากกระปุกเป็นแบบอื่นๆ มีบริการอื่นๆ ด้านความงามมาเสริม ต่อไปมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง”
อินเนสให้คำจำกัดความของ Beauty Tech อีกทีว่า การมีช่องทางดิจิทัลก็ไม่ได้หลงลืมความสำคัญของรีเทลหน้าร้าน แต่ ต้องการความสมดุลออนไลน์ และออฟไลน์ เป็นการมอบประสบการณ์ความงามที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมากขึ้น เป็นรูแบบ O+O หรือให้เทคโนโลยีเป็นสะพานเชื่อมระหว่างออนไลน์ และออฟไลน์
นำร่อง 2 เทคโนโลยีสู่ Beauty Tech
เพื่อให้ภาพของ Beauty Tech ชัดขึ้น ในปีนี้เริ่มมีเทคโนโลยีที่เป็นผลผลิตหลังจากที่ซื้อกิจการ ModiFace ออกมาให้เห็นในประเทศไทยแล้ว ได้เริ่มนำร่องเทคโนโลยี EFFACLARSPOTSCAN จาก ลา โรช-โพเซย์ ที่จะช่วยวินิจฉัยปัญหาสิวพร้อมกับคำแนะนำการดูแลผิวรายบุคคล โดยใช้เทคโนโลยี AI จะเริ่มใช้ในเดือนเมษายนนี้
และยังมีเทคโนโลยี ColorMe การทดลองแต่งหน้าเสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี ModiFace ของลอรีอัล เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ลองผลิตภัณฑ์แต่งหน้าเสมือนจริงกว่า 300 รายการตั้งแต่รองพื้นไปจนถึงลิปสติก โดยเป็นการจับมือกับพันธมิตรอย่าง “วัตสัน”
คนไทยสามารถใช้ ColorMe ผ่านแอปพลิเคชั่นของวัตสันได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ โดยแบรนด์เครื่องสำอางที่จะมีให้บริการบนแอปพลิเคชั่นคือ ลอรีอัล ปารีส และ เมย์เบลลีน นิวยอร์ก แอพนี้เริ่มใช้ที่ประเทศไทย, สิงคโปร์ และมาเลเซียเป็นที่แรก
เศรษฐกิจจะแย่แค่ไหน แต่ตลาดความงามยังโต!
ภาพรวมตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกในปี 2018 มีการเติบโต 5.5% มีมูลค่า 200,000 ล้านยูโรหรือ 7.2 ล้านล้านบาท ปัจจัยที่ทำให้เติบโตมีทั้ง ความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่หยุดนิ่ง ต้องการสินค้าพรีเมี่ยมมากขึ้น อีกทั้งเรื่องของดิจิทัลก็เป็นตัวเร่งตลาดความงาม รวมถึงการเข้าถึงของกลุ่มคนใหม่ๆ ด้วย
ภาพรวมอุตสาหกรรมความงาม ปี 2018
เติบโต 7.3% มูลค่ารวม 192,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (skincare) 45%
- ผลิตภัณฑ์ผม (hair) 16%
- เครื่องสำอาง (makeup)13 %
- ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่างกาย (hygiene) 9%
- น้ำหอม (fragrance)4%
ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (Skincare)
เติบโต 7.9% มูลค่ารวม 86,500 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า 82%
- ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย12%
- ผลิตภัณฑ์กันแดด 6%
ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Makeup)
เติบโต 8.5% มูลค่ารวม 24,800 ล้านบาท แบ่งเป็น
- เครื่องสำอางสำหรับผิวหน้า 56%
- เครื่องสำอางสำหรับริมฝีปาก 26%
- เครื่องสำอางสำหรับดวงตา 17%
- เครื่องสำอางสำหรับเล็บ1%
ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม (Hair)
เติบโต 2.7% มูลค่ารวม 31,100 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 82%
- ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม 15%
- ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม 4.3%
- ผลิตภัณฑ์ยืด/ดัดผม 1.2%
สรุป
กลายเป็นทุกวงการจะต้องหันลงมาจับเทคโนโลยี แม้แต่ความงามเองก็ยังต้องมีเทคโนโลยี AR หรือ AI เข้ามาช่วย เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริโภค ถือเป็นทิศทางที่น่าจับตามองไม่น้อยในตลาดบิวตี้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา