ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลปรับโฉม Central Online ทั้งระบบหลังบ้าน และปรับหน้าตาให้ใช้งานง่ายขึ้น ต่อยอดการเป็น Omni Channel ของห้างฯ ตั้งเป้าโต 150% มีรายได้เกินหมื่นล้านใน 5 ปี
เดินทางมา 5 ปี ถึงเวลาปรับโฉม
กลุ่มเซ็นทรัลขึ้นชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดค้าปลีกในไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ได้พยายามลงมาจับตลาดอีคอมเมิร์ซ หรือช้อปปิ้งออนไลน์อย่างหนัก เห็นได้จากดีลการซื้อกิจการเพื่อมาต่อยอดธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น
จุดเริ่มต้นของอีคอมเมิร์ซที่เป็นรูปเป็นร่างของกลุ่มเซ็นทรัลเริ่มต้นเมื่อ 5 ปีก่อน หรือปี 2014 ได้ซื้อกิจการ Office Mate เพื่อหวัง Know How ในการบริหารงานออนไลน์มาใช้ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น COL หรือย่อมาจาก Central Online
แต่ด้วยจุดยืนที่ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ แถมโครงสร้างในธุรกิจออนไลน์ก็ยังไม่ชัด ทำให้ในปี 2017 กลุ่มเซ็นทรัลได้ปรับโฉมอีคอมเมิร์ซใหม่อีกครั้ง โดยเปลี่ยนเป็น Central.co.th ยังคงเรียกว่าเซ็นทรัลออนไลน์อยู่
ในครั้งนี้ได้วางจุดยืนเป็น “ห้างสรรพสินค้า” อีกสาขาหนึ่งของกลุ่มเซ็นทรัล บริหารงานภายใต้กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลนั่นเอง แต่ระหว่างทางในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้กลุ่มเซ็นทรัลก็ได้เติมพอร์ตธุรกิจออนไลน์เรื่อยๆ
เท่ากับว่าเส้นทางของ Central Online มีอายุได้ 5 ปีแล้ว ล่าสุดในปีนี้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลได้พลิกโฉมเว็บไซต์ Central.co.th ใหม่ในคอนเซ็ปต์ MY CENTRAL IS NOW มีการปรับใหม่ทั้งระบบ และหน้าตาเว็บไซต์ ใช้งบลงทุน 250 ล้านบาท แบ่งเป็น 55% ลงทุนในแพลตฟอร์ม และ 45% ลงทุนด้านการตลาด
เหตุผลในการปรับโฉมใหม่ในครั้งนี้ สเตฟาน จูเบิร์ท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายออนไลน์ และออมนิ–แชนแนล ซีอาร์เอ็ม บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ได้บอกว่า
“จากผลวิจัยความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการช้อปปิ้งออนไลน์พบว่าจะมองหาแต่สิ่งที่ชื่นชอบ ไม่ชอบรอสินค้านานๆ มีความกังวลเมื่อสั่งสินค้าออนไลน์ จึงนำมาเป็นโจทย์ในการปรับโฉมใหม่ครั้งนี้ ต้องใช้งานง่าย ได้สินค้าเร็ว และมีคุณภาพ”
ในเรื่องสินค้าตอนนี้ใน Central.co.th มีสินค้าทั้งหมด 200,000 รายการ ให้เหมือนอยู่ในสโตร์ของเซ็นทรัล และมีแบรนด์เอ็กซ์คลูซีฟที่ขายเฉพาะออนไลน์เท่านั้นอีก 60 แบรนด์ พร้อมเปิดศึกอีคอมเมิร์ซด้วยบริการ Same Day Delivery ส่งสินค้าภายใน 1 วันเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อช้อปก่อนเที่ยง ส่วนทั่วประเทศใช้เวลา 2-3 วัน และมีบริการ Click & Collect ที่มี 70 จุดทั่วประเทศ
วางจุดยืนเป็น Omni Channel ของห้างสรรพสินค้า ให้ JD Central ไปสู้ Market Place
ด้วยความที่ต้องการบุกช่องทางออนไลน์มากขึ้นเพราะทิศทางของธุรกิจค้าปลีกเริ่มไปช่องทางออนไลน์อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยก็มีการช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้นด้วย
นอกจากเว็บไซต์ Central.co.th แล้ว กลุ่มเซ็นทรัลยังได้ลงทุนร่วมกับ JD.com อีคอมเมิร์ซเบอร์ 2 จากประเทศจีน ได้เปิดเป็น JD.co.th ในนามบริษัท เจดี เซ็นทรัล จำกัด
ณัฐธีรา จิราธิวัฒน์ บุญศรี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด บอกว่า มีการวางจุดยืนของทั้ง 2 แพลตฟอร์มต่างกัน โดยที่ Central.co.th เป็น Omni Channel ของห้างสรรพสินค้า เป็นเหมือนอีกหนึ่งสาขาของเซ็นทรัล แต่ทาง JD.co.th จะสู้กับผู้เล่น Market Place อื่นๆ โดยตรง
มีการตั้งเป้าว่าจะต้องขึ้นแท่นเป็นเบอร์หนึ่ง Omni Channel ของห้างสรรพสินค้าในไทย
ภายใน 5 ปี ต้องมีรายได้เกินหมื่นล้าน เป็นเบอร์ 1 ในห้างไทย
ในปี 2018 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลมีรายได้ 42,000 ล้านบาท เติบโต 4% ในปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 6% มีรายได้ 45,000 ล้านบาท โดยจะให้การปรับโฉมของ Central.co.th เป็นปัจจัยหลักในการเติบโต ได้ตั้งเป้าการเติบโตของ Central Online ที่ 150% มีรายได้ 1,500 ล้านบาท
ปัจจุบันเว็บไซต์ Central.co.th มีทราฟิก 12.5 วิวต่อเดือน Session 3.5 ล้านครั้งต่อเดือน และมีฐานลูกค้า 1 ล้านราย เป็นผู้ชาย 32% ผู้หญิง 68% ส่วนใหญ่เข้าจากช่องทางมือถือ 70% เดสท็อป 24% และแท็ปเล็ต 6%
สินค้าที่ขายดีที่สุด ได้แก่ สินค้าความสวยความงาม 36.9% เครื่องใช้ในบ้าน 24.2% การเดินทาง 8.1% แม่และเด็ก 7.7% และสินค้าผู้หญิง 7.5%
ตอนนี้สัดส่วนรายได้ของเซ็นทรัล ออนไลน์มี 4% ของรายได้ทั้งหมดของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ตั้งเป้าว่าภายในปี 2023 จะมีสัดส่วน 15% และจะมีรายได้เป็นอันดับหนึ่งของห้างเซ็นทรัล ตอนนี้เป็นเซ็นทรัลชิดลมที่มีรายได้เกือบหมื่นล้าน
สรุป
การปรับโฉมใหม่ครั้งนี้น่าจะช่วยทำให้ประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์ดีขึ้น แต่ทางเซ็นทรัลต้องวางจุดยืนของช่องทางออนไลน์แต่ละแพลตฟอร์มให้ชัดเจน อาจจะทำให้ผู้บริโภคสับสนได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา