1 ปีเต็มหลัง TARAD.com ขายหุ้น 51% ให้บริษัท TSpace ในเครือไทยเบฟ ถือเป็นการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากเดิม ป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ มาเป็นกลุ่มไทยเบฟแทน (ภาวุธยังถือหุ้น 49%)
ในการแถลงข่าวครั้งนั้น ภาวุธยอมรับว่า TARAD.com ในฐานะ “ตลาดซื้อขายสินค้า” (marketplace) ไม่สามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในประเทศไทยอย่าง Lazada, Shopee, JD Central ได้ และจะเปลี่ยนตัวเองเป็น “ผู้ให้บริการโซลูชัน” เพื่ออำนวยความสะดวกในการขายของออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างๆ แทน
หนึ่งปีผ่านมา TARAD.com ประกาศรีแบรนด์ตัวเองเป็น TARAD Group และเปิดตัวโซลูชันชื่อ U-Commerce สำหรับบริหารการค้าออนไลน์ทั้งหมดไว้ในที่เดียว
หากเข้าเว็บไซต์ TARAD.com ในตอนนี้ หน้าตาของเว็บไซต์ถูกเปลี่ยนไปจากของเดิมเรียบร้อยแล้ว โดยหน้า Marketplace ที่เป็นธุรกิจตั้งต้นของบริษัทถูกดันลงไปด้านล่าง (ภาวุธบอกว่ายังให้บริการอยู่แต่ไม่เน้นแล้ว) ส่วนด้านบนของหน้าเว็บกลายเป็นโฆษณาของ U-Commerce แทน
U-Commerce นิยามตัวเองว่ามาจากชื่อเต็มๆ Universal Commerce หน้าที่ของมันคือเป็นระบบกลางที่บริหารข้อมูลสินค้าบนแพลตฟอร์มต่างๆ ในไทย (เช่น Lazada, Shopee, JD Central) แพลตฟอร์มขายต่างประเทศ (เช่น Amazon, Ebay) และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (เช่น Facebook, Instagram) เพื่ออำนวยความสะดวกให้พ่อค้าแม่ค้า ในการจัดการสต๊อกสินค้า จัดการคำสั่งซื้อ และจัดการขนส่ง ไว้ในที่เดียวกัน
ผู้ค้าสามารถสร้างร้านค้าบน U-Commerce แล้วเพิ่มสินค้าไปยัง Shopee และ Lazada ได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาสร้างข้อมูลสินค้าใหม่บนทุกแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับระบบแชทของ Facebook เพื่อรับคำสั่งซื้อผ่าน Messenger
U-Commerce ยังเชื่อมโยงกับบริการอื่นๆ ที่ภาวุธเข้าไปลงทุนไว้ เช่น บริการชำระเงิน PaySolution และบริการเทียบราคาค่าขนส่งสินค้า Shippop และคลังสินค้า SiamOutlet เพื่อให้เป็นบริการที่ครบวงจรสำหรับผู้ค้าออนไลน์
โมเดลธุรกิจของ TARAD Group ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เป็น Marketplace และคิดค่าธรรมเนียมจากผู้ขายสินค้า กลายมาเป็นบริการซอฟต์แวร์แบบ SaaS (Software as a Service) ที่คิดค่าใช้งาน U-Commerce เป็นรายเดือนหรือรายปีแทน โดยเริ่มต้นที่ 990 บาทต่อเดือน และมีบริการรุ่นฟรีให้ลองใช้งาน (Freemium model)
U-Commerce ถือเป็นการพลิกมุมธุรกิจที่น่าสนใจของ TARAD Group ที่ไม่สามารถฝ่าสงครามแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทยได้ และใช้ประสบการณ์จากการอยู่ในวงการมายาวนาน หาช่องว่างทางการตลาดที่พ่อค้าแม่ค้ายังไม่มีคนมาตอบโจทย์ด้านนี้มากนัก (หรือมีบ้างแต่ก็ไม่ครบวงจร) ส่วนโมเดลรายได้จาก subscription จะยั่งยืนแค่ไหน ก็เป็นสิ่งที่ TARAD Group ต้องพิสูจน์ตัวเองต่อนับจากนี้ไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา