2-3 ปีที่ผ่านมาเรียกว่าค่ายโทรศัพท์มือถือต้องลงทุนไปเยอะ โดยเฉพาะการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ราคาแพงหูฉี่ ว่าแต่ปี 2562 ธุรกิจ Telco น่าลงทุนหรือยัง?
พิสุทธิ์ งามวิจิตรวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย บอกว่า 3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจโทรคมนาคม (Telco) ได้รับผลกระทบจากการประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 GHz ทำให้ กำไร และ dividend หายไป แต่ช่วง 12 เดือนหลังจากนี้คาดว่า ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น โดยธุรกิจ Telco ไทยมี 3 ปัจจัยที่น่าสนใจ ได้แก่
- โครงสร้างการแข่งขันธุรกิจ Telco ในไทยมีผู้เล่นแค่ 3 รายคือ TRUE ADVANC และ DTAC ทำให้ทั้ง 3 ค่ายร่วมมือกันง่ายขึ้น ต่างจากโครงสร้างในต่างประเทศที่มีผู้เล่นในตลาด 4 เจ้าขึ้นไป ทำให้ต้องแข่งขันกันอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามฐานลูกค้าในไทยยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัจจุบันคนไทยการใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ที่คนละ 10 Gb ต่อเดือนต่อคน
- ปัจจัยความไม่แน่นอนที่เคยกดดันหุ้นทั้ง 3 ตัวลดลง เช่น ปีนี้ไม่มีการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ และคาดว่าจะเห็นความชัดเจนเรื่องการจัดตั้ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อาจเกิดขึ้นหลังจากผลการจัดตั้งรัฐบาล คาดว่ารัฐบาลใหม่จะทำงานร่วมกับผู้ประกอบได้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจ Telco
- ผลประกอบการธุรกิจนี้ฟื้นตัวขึ้นเพราะการแข่งขันที่ลดลง มาจาก
1) เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา ในธุรกิจมีการลงทุนเรื่อง Network ระบบและโครงสร้าง 4G จำนวนมาก ช่วงนี้ถือเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ก่อนที่จะเริ่มต้นลงทุนกับ 5G ในระยะต่อไป
2) งบรายจ่ายเพื่อการลงทุน (Capex) ลดลงจำนวนมาก แต่ความต้องการในตลาด (Demand) ยังเพิ่มขึ้นทำให้หลังจากนี้ค่ายต่างๆ ไม่จำเป็นต้องทำโปรโมชั่นลดราคา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเพิ่มราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆได้
ทั้งนี้ผลประกอบการที่ดีขึ้น ต้นทุนต่ำลงย่อมส่งผลดีให้เงินปันผลของแต่ละบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะตอบสนองนักลงทุนส่วนใหญ่ที่สนใจลงทุนใน Telco เพราะต้องการ Dividend Yield ที่สูง โดยหุ้น Top Pick ของบล.กสิกรไทย คือ TRUE เพราะที่ผ่านมามีปัญหามาก จึงคาดว่าปีนี้จะกลับมาดีขึ้นได้ง่ายกว่า โดยกองทุนรวมที่น่าสนใจเช่น DIF INTOUCH เพราะเงินปันผลยังสูงถือว่าน่าสนใจ
ปัจจัยที่อาจกระทบธุรกิจ Telco 2562
- การประมูลคลื่นความถี่ 5G ที่ทางภาครัฐเดิมต้องการให้เกิดขึ้นในปีนี้ แต่ทางบล.กสิกรไทย คาดว่าจะสามารถเปิดการประมูลคลื่นความถี่ 5G ได้ในปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 เพราะต้องใช้เวลาอีกสักพักในการคัดเลือกกสทช. และกสทช.ต้องใช้เวลา 6-12 เดือนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ระบบจากผู้ที่ถือครองอยู่ในปัจจุบัน
แต่หากการประมูลเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในไทย เพราะต้องกลับสู่วงจรการลงทุน นอกจากนี้เชื่อว่ารอให้เทคโนโลยี 5G ในต่างประเทศเริ่มทำ และมีความชัดเจน จะช่วยให้ผู้ประกอบการลงทุนน้อยลงแต่สามารถพัฒนาธุรกิจได้เร็วกว่า
(ในต่างประเทศที่เริ่มเรื่อง 5G เร็วเพราะเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีในขณะที่ไทยหากเริ่มลงทุนก่อนโดยที่ยังไม่มีธุรกิจ และเทคโนโลยีใช้จริงจะกลายเป็นผลเสียให้ต้นทุน 5G แพงขึ้น) - กรณีกสทช.จะปิดคลื่นความถี่ 2G (ในวันที่ 31 ต.ค. 2562) ส่งผลดีต่อ ADVANC และ DTAC เพราะประหยัดต้นทุนได้หลักพันล้านบาท
- นอกจากนี้ต้องจับตามองเรื่องการชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz โดยผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมหวังว่า รัฐจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผ่อนชำระค่าใบอนุญาตจากเดิมที่ต้องชำระงวดสุดท้ายในปี 2563 เช่น ADVANC ต้องจ่ายเงินค่าใบอนุญาต 59,574 ล้านบาท TRUE 60,218 ล้านบาท
หากสามารถขยายการผ่อนชำระยอดเงินได้อีก 5 ปี (2563-2567) จะช่วยลดภาระผู้ประกอบการได้ ขณะเดียวกันภาครัฐได้รับดอกเบี้ยผ่อนชำระเพิ่มเติมด้วย - ทั้งนี้ต้องจับตามองข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงการตั้งผู้กำกับอย่างกสทช.จะออกมาในรูปแบบใด
สรุป
ภาพรวมคาดว่าธุรกิจคมนาคมรายได้จะเติบโตขึ้น เพราะลงทุนมาเยอะใน 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามต้องจับตามองการเจรจากับ กสทช. ทีมใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ทั้งการประมูล 5G ท่ี่เร็วเกินไป และการเลื่อนชำระค่าใบอนุญาต 900 GHz แต่สำหรับกองทุนรวมยังสามารถลงทุนได้เพราะให้เงินปันผลอย่างต่อเนื่องทุกปี และหากมีความผันผวนเกิดขึ้นการลงทุนในกองทุนรวมยังมีความมั่นคงกว่า
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา