เมื่อใครๆ ก็อยากเป็น “ซุปเปอร์แอพ” กรณีศึกษา Apple Card-Alipay-Digital Banking ในไทย

ธุรกิจ Payment ไม่ใช่แค่แบงก์ที่ทำได้ ในต่างประเทศอย่าง Apple เพิ่งออกบัตรเครดิตใหม่ ที่จีนมี Alipay ที่ใหญ่กว่าธนาคาร ส่วนไทยยังเทรนด์แบงก์มุ่งไปทางดิจิทัลกันหมด

ทำไม Apple ต้องออกบัตรเครดิต?

เมื่อเดือนมี.ค. 2019 Apple ที่หลายคนรู้จักในฐานค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของโลก เปิดตัวบัตรเครดิตชื่อ Apple Card ที่เชื่อมกับ Apple Wallet app บนมือถือ iPhone โดยบัตรเครดิตนี้เกิดจาก Apple จับมือกับ ธนาคาร Goldman Sachs เพื่อให้ใช้จ่ายในสหรัฐฯ ได้ และ ร่วมมือกับ Mastercard เพื่อให้ใช้จ่ายในต่างประเทศได้

ชูจุดเด่นหลายอย่าง เช่น ฟรีค่าธรรมเนียมบัตร ดอกเบี้ยถูกกว่าตลาด ใช้จ่ายผ่านบัตรมี Cash back 2-3% ควบคุมบัตรเครดิตผ่าน iPhone ฯลฯ แต่บัตรนี้ยังเปิดให้บริการในสหรัฐเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ Apple พยายามเข้าสู่ธุรรรมการเงินผ่านการออก Apple Pay (รูปแบบเดียวกับ Samsung Pay) แต่ถ้ามองจากวัฒนธรรมของสหรัฐ คนส่วนใหญ่ยังใช้บัตรเครดิต และบัตรเดบิตเป็นหลัก ดังนั้น Apple เน้นแต่ออนไลน์ไม่ได้ เพราะต้องขยายช่องทางให้คนใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น และเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนตามคอนเซ็ปต์ Super App (ซุปเปอร์แอพ)

ใครๆ ก็อยากเป็น Super App จนบางประเทศ Non-Bank ใหญ่กว่าธนาคาร

ไม่ว่าธุรกิจที่อยู่ในภาคการเงิน ค่ายมือถือ หรือ Non-bank ต่างก็ขยายบริการเพื่อให้แพลตฟอร์มของตนเองเป็น “Super App” หรือ แอพพลิเคชั่นที่มีสามารถใช้บริการได้ตลอดเวลาทุกวัน (Everyday App) เช่น LINE Grab Alipay WeChat Pay (อยู่ภายใต้ Tencent)

ปัจจุบันบางประเทศ Non-Bank เริ่มมีบทบาทในตลาดการเงินมากกว่าธนาคารแล้ว เช่น ใน แอฟริกาใต้ รวมถึงประเทศจีนที่ไตรมาส 4/2018 มีมูลค่าการชำระเงินบนมือถือของ third-party อยู่ที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 217 ล้านล้านบาท) กว่า 92.65% เป็นส่วนแบ่งการตลาดของ Alipay (53.78%) Tencent Finance (38.87%)

ทั้งนี้ประชากรจีน 1.4 พันล้านคนใช้บริการ Mobile Payment อย่าง Alipay และ wechatpay เป็นระบบชำระเงินออนไลน์ที่คนในชีวิตประจำวันมากกว่าใช้บริการจากธนาคารในประเทศ เพราะสามารถใช้จ่ายได้ท้้งช่องทางออนไลน์ เช่น โอนเงินให้เพื่อน จ่ายค่าสินค้าและบริการ ส่วนช่องทางร้านค้าออฟไลน์ สามารถไปที่ร้านค้าไม่ว่าจะไทยหรือต่างประเทศก็สแกน QRcode จ่ายเงินได้เลย (แปลงสกุลเงินให้ด้วย)

ไม่ว่าจะ Alipay WeChat Pay ก็มีบริการครบวงจรบนแพลตฟอร์มของตนเอง (มีฟีเจอร์แตกต่างกันไป) เช่น การซื้อสินค้าบนเว็บไซด์ E-commerce, บริการสินเชื่อผ่านมือถือ (ไม่เสียดอกเบี้ยถ้าคืนในเวลา),  เรียกรถแท็กซี่ สั่งอาหาร จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ เพื่อดึงให้ลูกค้าใช้บริการทุกอย่างบนมือถือ บนเครือข่ายพันธมิตรคือตัดเงินจากบัญชีธนาคาร และใช้จ่ายในร้านค้าเครือข่าย เช่น Visa Mastercard ฯลฯ

Digital Banking เทรนด์ไทย แบงก์ยังเป็นเจ้าใหญ่ในตลาด

กลับมาที่ประเทศไทย Digital Banking เริ่มใช้กันแพร่หลายมากขึ้น ทั้ง WeChat Pay Alipay เข้ามาให้บริการลูกค้าจีนในไทยแล้ว เคยเข้ามาในไทยโดยไม่ได้ทำดีลกับธนาคารของไทย บางครั้งมีการฉ้อโกงเกิดขึ้น เช่น มีนายหน้ามาบอกให้ร้านค้าเปิดบัญชีเพื่อรับเงินจากลูกค้าจีน ผ่าน WeChat Pay Alipay แต่สุดท้ายเชิดเงินหนีไป แต่สำหรับประเทศไทย ธนาคารยังเป็นส่วนสำคัญในธุรกรรมการชำระเงิน

ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เป็นผู้กำกับธุรกรรมทางการเงิน ทั้งธนาคารและ Non-bank (รวม E-wallet) ยังให้ความสำคัญกับธนาคารของไทย เช่น โครงสร้างพร้อมเพย์ (PromptPay) เปิดให้ธนาคารเข้ามาเชื่อมต่อได้ แต่ผู้เล่น Non-Bank จะสามารถเชื่อมต่อกับโครงสร้างพร้อมเพย์โดยมีธนาคารเป็นตัวกลางเท่านั้น

ทำให้ Non-Bank แข่งขันกับธุรกิจธนาคารยากขึ้น เพราะมีค่าธรรมเนียมที่ต้องเสีย 2 ต่อ (1.จ่ายให้ระบบพร้อมเพย์ 2.จ่ายให้ธนาคาร) แบงก์ชาติอาจจะเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะเป็นคนช่วยคัดกรอง non-bank ที่มีมาตรฐานก่อนเข้ามาเชื่อมต่อในระบบ

ฝั่งธนาคารพาณิชย์เมื่อได้รับการสนับสนุนจากธปท. จะเห็นว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาเร่งมือขยายฐานลูกค้า Mobile Banking ดึงลูกค้าที่มีบัญชีใช้แอพฯ เพื่อที่ธนาคารจะ Crosssale ผลิตภัณฑ์อื่นได้มากขึ้น สาเหตุหลักเพราะพฤติกรรมลูกค้าเดินเข้าสาขาธนาคารลดลงแต่ใช้เวลากับมือถือมากขึ้น ดังนั้นธนาคารต้องเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ เช่น ซื้อกองทุนรวม ขอสินเชื่อออนไลน์ บริหารบัตร ฯลฯ ผ่านมือถือได้ทั้งหมด

Super App กระแสหลักของเอเชีย

SuperApp น่าจะเป็นเทรนด์หลักของเอเชีย เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ อังกฤษยังใช้จ่ายผ่านบัตรเป็นหลัก นอกจากนี้ประชากรส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานอยู่แล้ว ทำให้ Startup เลือกจะไปเชื่อมต่อบริการในสถาบันการเงินเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้ลูกค้าเข้ามาใช้งาน

ในส่วนประเทศไทยเราเห็น Grab ที่เป็นมากกว่าแอพฯ เรียกรถแท็กซี่ วิน ยังรวมไปถึงร้านอาหาร มี GrabPay เป็นช่องทางจ่ายเงิน อนาคตจะเชื่อมกับบริการอื่นๆ ของธนาคารกสิกรไทย LINE ที่นอกจากเป็นแอพพลิเคชชั่นสำหรับแชท ยังขยายมาทั้ง LINE Pay ที่เป็นช่องทางชำระเงิน มีข่าว ฯลฯ พยายามรวมทุกอย่างมาอยู่บนแอพเดียว

นอกจากนี้ในอินโดนีเซียมีแอพพลิเคชั่น Go-Jek เติบโตอย่างต่อเนื่องและเพิ่มบริการใหม่ๆ ที่มากกว่า เรียกแท็กซี่ เรียกวินมอเตอร์ไซค์ รวมไปถึง บริการนวดและช่องทางการชำระเงินอย่าง Go-Pay ปัจจุบันมีธุรกรรมเดือนละ 100 ล้านครั้ง

สรุป

กระแส Super App เกิดขึ้นในเเอเชีย และหลายประเทศที่สถาบันการเงินยังเข้าไม่ถึงลูกค้าทั่วไป แต่สำหรับประเทศไทย เราน่าจะเห็นธนาคารอยากขยับเพิ่มบริการ เพิ่มพาร์ทเนอร์เพื่อเป็น Super App มากกว่าเพราะมีทั้งความเชื่อมั่นในการเป็นสถาบันการเงินดั้งเดิม ได้เปรียบจากกฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติ และยังมีพันธมิตรธุรกิจอื่นๆ เข้ามาร่วมอีกเพียบ

ที่มา Apple, Alipay, Chinainternetwatch

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา