Royal Enfield เตรียมเปิดโรงงานประกอบในไทย กลางปีนี้

Royal Enfield ประกาศจัดตั้งบริษัทลูกในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ หลังพบว่าตลาดไทยกำลังเติบโต พร้อมเพิ่มกำลังการผลิต เปิดโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์นอกประเทศอินเดียเป็นครั้งแรก ที่ Gateway City ฉะเชิงเทรา ภายในกลางปีนี้

พร้อมลุยตลาดเองหลังจำหน่ายในไทย 3 ปีที่แล้ว

สิทธัตถะ ลาล

สิทธัตถะ ลาล CEO Royal Enfield เปิดเผยว่า เมื่อสามปีที่แล้ว ได้นำ Royal Enfield เข้ามาจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่ายในไทย และที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดีมาก เมื่อเทียบกับยอดขาย Royal Enfield ทั่วโลกที่มีกว่า 800,000 คัน ในปีที่ผ่านมา พบว่า 5 ประเทศแรกที่มียอดขายสูงสุด ประกอบไปด้วย อินเดีย, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อินโนนีเซีย และไทย และไทยเองมีศักยภาพในการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ จากยอดจำหน่ายปีที่ผ่านมา 1,400 คัน และคาดว่าในปีนี้ ยอดขายจะแซงอินโดนีเซียขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ได้

“จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัทลูกในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อบริหารจัดการ Dealer และสินค้าในไทยอย่างเต็มตัว ในช่วงนี้กำลังจัดตั้งทีมผู้บริหารไทยชุดใหม่ และทีมงานประมาณ 15 คน พร้อมกับทีมผู้บริหารจากอินเดีย ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้”

เปิดโรงงานประกอบนอกอินเดียครั้งแรกของ Royal Enfield ที่ไทย

นอกจากจะทำการเปิดบริษัทลูกที่ไทยแล้ว ยังได้ทำการว่าจ้าง United Auto ตั้งอยู่ใน นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ ฉะเชิงเทรา ในการประกอบรถจักรยานยนต์ ถือว่าเป็นครั้งแรกของ Royal Enfield ที่มีฐานการผลิตนอกประเทศอินเดีย ซึ่งในช่วงแรกจะนำเข้าชิ้นส่วนตัวเครื่องยนต์จากอินเดีย ส่วนโครงรถ ได้ว่าจ้าง Thai Summit Group ในการผลิตอยู่แล้ว สามารถส่งตรงมาที่โรงงานผลิตได้เลย ส่วนชิ้นส่วนอื่นๆ นั้น จะใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศให้ได้ขั้นต่ำ 60% จากเงื่อนไขของรัฐไปก่อน และหลังจากนั้นจะทยอยใช้ชิ้นส่วนในไทยมากขึ้นตามลำดับ

“ด้วยกฎระเบียบของไทย ที่เอื้ออำนวยให้สามารถตั้งโรงงานประกอบได้ง่ายกว่าประเทศอื่นๆ จึงทำให้ไทยเป็นตัวเลือกในอันดับต้นๆ ที่ Royal Enfield พิจารณา และเห็นไทยมีศักยภาพในเรื่องของการเติบโตของยอดขาย เลยทำให้ตัดสินใจที่ลงทุนว่าจ้างโรงงานประกอบในไทยเต็มตัว”

สำหรับการเปิดโรงงานประกอบในไทยนั้น จะประกอบรถจักรยานยนต์ทุกรุ่นของ Royal Enfield ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน เบื้องต้นมีกำลังการผลิตมากกว่า 100 คันต่อเดือน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการที่จำหน่ายในไทย และในอนาคตยังสามารถส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านได้ ส่วนเรื่องของราคานั้น ทาง สิทธัตถะ ลาล ยืนยันว่า จะไม่มีการปรับราคาลงอย่างแน่นอน

“เนื่องจากราคาขาย Royal Enfield ในไทย ถือว่าต่ำมากๆ แล้ว การที่ Royal Enfield ได้มีโอกาสตั้งโรงงานประกอบในไทย ถือว่าเป็นการขยาย Margin Gap ให้มีมากขึ้น เพื่อทดแทนส่วนต่างในช่วงที่ Royal Enfield เปิดตัวในไทยเมื่อสามปีก่อน ดังนั้นลูกค้าเดิมของ Royal Enfield ไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด”

ปูพรมเปิด Royal Enfield Store พร้อม After Service มากกว่าเท่าตัว

ในปัจจุบัน Royal Enfield ได้มีดีลเลอร์เพียงรายเดียว (Sharich Holding) แต่หลังจากนี้ จะประกาศรับสมัครดีลเลอร์เพิ่ม เพื่อขยายตลาดในไทยให้โตแบบก้าวกระโดด โดยการเปิด Royal Enfield Store ที่เดิมมีอยู่แล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ทองหล่อ, วิภาวดีรังสิต และเชียงใหม่ เพิ่มอีก 12 แห่งตามหัวเมืองใหญ่ และศูนย์ให้บริการ (After Service) ที่ให้บริการเซอร์วิสเพียงอย่างเดียว เป็น 25 แห่ง ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 12 เดือนหลังจากนี้ ครอบคลุมการให้บริการลูกค้าทั่วประเทศ

สรุป

หลังจากที่ Royal Enfield รุกไทยเปิดบริษัทลูก รวมถึงการเปิดโรงงานประกอบในไทย ถือว่าเป็นโรงงานประกอบแห่งแรกนอกประเทศอินเดีย เนื่องมาจากผลตอบรับที่ดีที่ช่วงสามปีที่ผ่านมา Royal Enfield ได้วางจำหน่ายในไทย อัตราการเติบโตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่า ส่วนแบ่งการตลาดในระดับ Middle size (250-750 cc.) จะขยายฐานได้มากขึ้นกว่านี้ ที่เมื่อปีที่แล้วมียอดขายกว่า 15,000 คัน โดยคาดหวังว่าลูกค้าสามารถสัมผัสความเป็น Premium ได้ ในราคาเพิ่มเงินไม่มาก เมื่อเทียบกับรถรุ่นอื่นๆ ในตลาดระดับเดียวกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา