ธนาคารในไทยไม่ได้มีรายได้จากธุรกิจรายย่อย อย่างการรับฝาก-โอน-ถอน หรือให้สินเชื่อรายย่อยเท่านั้น แต่อีกส่วนสำคัญคือลูกค้าธุรกิจ (SME ธุรกิจขนาดใหญ่ ฯลฯ) แล้วทำไมกรุงศรี ต้องหาเงินฝากเข้ามาในแบงก์?
ทำไม “กรุงศรี” ต้องหันมาเน้นเงินฝากจากลูกค้าธุรกิจรายใหญ่?
ตั้งแต่ปลายปี 2561 หลายธนาคารออกโปรโมชั่นเงินฝากดอกเบี้ยสูง ดอกเบี้ยพิเศษมาดึงดูดให้ลูกค้ารายย่อยฝากเงินกับธนาคาร เพราะปัจจุบันต้นทุนทางการเงินอาจจะเพิ่มขึ้นจากเทรนด์ดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นขาขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก ทำให้ธนาคารหาลู่ทางล็อกต้นทุนเงินฝากให้ได้มากที่สุด ก่อนที่ดอกเบี้ยธนาคารอาจต้องปรับสูงขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ฐานเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยมีอยู่ 12-13 ล้านล้านบาท โดยมีส่วนสำคัญมาจากลูกค้าธุรกิจ อย่าง Corporate ดังนั้นจะเห็นธนาคารแข่งขันเข้าถึงลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี เพราะนอกจากแต่ละบริษัทจะมีเงินสำรองธุรกิจเก็บไว้ในบัญชีเงินฝาก ธนาคารยังต่อยอดธุรกิจ และบริการอื่นๆ ให้ลูกค้าได้มากขึ้น
ส่วนของธนาคารกรุงศรีีอยุธยาที่ปี 2561 มียอดสินเชื่อทั้งหมดอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อรายย่อย 48% สินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ (มีรายได้ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) 25% สินเชื่อลูกค้า SME 15% และกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น 12% ดังนั้นปีนี้นอกจากขยายเงินฝากรายย่อย ลูกค้าเวลธ์ ยังหันมาดึงเงินฝากจากลูกค้าบริษัทด้วย แสดงว่าแบงก์เตรียมตัว เตรียมเงินสำหรับปล่อยสินเชื่อในปี 2562 นี้
เมธินี จงสฤษดิ์หวัง ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า ปี 2562 ทางกรุงศรี จะโฟกัสเงินฝากของลูกค้าธุรกิจรายใหญ่หรือ Corporate มากขึ้น เพราะลูกค้ากลุ่มนี้แต่ละบริษัทจะมีเงินฝากที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวอย่างน้อย 50-100 ล้านบาทอยู่แล้ว หากเข้าถึงเงินฝากของลูกค้าจะสามารถเสนอบริการ Solutions อื่นๆ ให้ลูกค้าได้มากขึ้น
“การที่กรุงศรีหันมาเน้นเงินฝากกลุ่ม Corporate เพราะที่ผ่านมาเงินฝากรายย่อยมีความแข็งแกร่งแล้ว แต่ธนาคารยังไม่เคยเน้นเรื่องเงินฝากในฐานลูกค้ากลุ่ม Corporate มาก่อน ทำให้ปีนี้คาดว่าเงินฝากกลุ่มนี้อาจจะเติบโต 19% สิ้นปีคาดว่าจะมีเงินฝากอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท”
ปี 2562 กรุงศรีมีกลยุทธ์ขยายสินเชื่อลูกค้า Corporate อย่างไร?
พรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่า GDP จะเติบโต 3.8% เพราะมีทิศทางที่ดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ เช่น EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) ฯลฯ ที่เริ่มเห็นชัดเจน ขณะเดียวกันการส่งออก การท่องเที่ยว อุปโภคในประเทศคาดว่าทั้งปีนี้จะเติบโตต่อเนื่อง ทำให้การขยายสินเชื่อในกลุ่ม Corporate ยังเติบโตได้ดี
ปี 2562 ทางธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่อยู่ที่ 408,000 ล้านบาท เติบโต 8% จากปี 2561 โดยปัจจุบันรายได้จากธุรกิจ Corporate แบ่งเป็นรายได้จากดอกเบี้ย 70% รายได้จากค่าธรรมเนียม 30% เป้าหมายภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจะหันมาขยายรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% และลดสัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยเหลือ 60% และจะควบคุมหนี้เสียให้เหมาะสม ปัจจุบันอยู่ที่ 1.4%
ทั้งนี้นอกจากธนาคารสามารถบริการสินเชื่อให้ลูกค้า Corporate ธนาคารยังสามารถแนะนำการลงทุนในต่างประเทศ เพราะปัจจุบันลูกค้า Corporate จำนวนมากที่มีความพร้อมเริ่มสนใจไปลงทุน ขยายกิจการหรือตั้งโรงงานในต่างประเทศมากขึ้น ธนาคารจึงสามารถให้บริการทั้งการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ หรือ บริการควบรวมกิจการ ( M&A) ฯลฯ ขณะเดียวกันธนาคารต้องสร้างระบบดิจิตอลเพื่อสร้าง Solutions ใหม่ๆให้ลูกค้า (ตามภาพ)
ส่วนลูกค้า Corporate จากญี่ปุ่นที่สนใจลงทุนในไทย ยังรอดูความชัดเจนจากสถานการณ์ต่างๆ ในเมืองไทย ทั้งความต่อเนื่องของนโยบายการลงทุนของภาครัฐ อย่าง EEC Mega project ฯลฯ
สรุป
ธุรกิจของธนาคารคือการปล่อยสินเชื่อ แต่เมื่อทุกธนาคารโดดลงมาแข่งกันให้สินเชื่อ ดอกเบี้ยก็ถูกลง ธนาคารเลยต้องหาจุดเด่นนอกจากดอกเบี้ยถูก คือบริการเสริมเพื่อดึงดูดให้ลูกค้ายังใช้บริการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการทำเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนสำหริบบริษัทที่ทำการค้ากับต่างประเทศ การใช้ Blockchain ให้ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ฯลฯ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา