ภาพธุรกิจของ LINE เริ่มเปลี่ยน? รายได้จาก Sticker-Game ลดลง แต่จากโฆษณาเพิ่มขึ้น

line-friend

เว็บไซต์ Business Insider รายงานว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของ LINE เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 36,000 ล้านเยน หรือราว 12,000 ล้านบาท

ซึ่งการเติบโตครั้งนี้มาจากรายได้ฝั่งโฆษณาที่เป็นให้องค์กรต่างๆ เข้ามาซื้อพื้นที่ในแพลตฟอร์ม คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ หรือ 14,500 ล้านเยน (ราว 4,800 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 52% และเพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาส 2

ในทางกลับกันรายได้จากฝั่ง User (ผู้ใช้งาน) ที่ในอดีตเป็นรายได้หลัก กลับปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เช่นรายได้จากการขาย Sticker ที่ปรับตัวลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนการขาย Item ภายในเกมต่างๆ ก็ลดลง 18% จากปีก่อนเช่นกัน

สำหรับตลาดหลักของ LINE อยู่ใน 4 ประเทศภูมิภาคเอเชียคือ ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ไทย และอินโดนีเชีย ซึ่งจำนวนผู้ใช้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 เติบโตถึง 18% เมื่อเทียบกับปีก่อน และเตรียมวางแผนขยายบริการไปในประเทศอื่นๆ ของภูมิภาคเอเชียเช่นกัน

line_text_logo_typea

จากเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจของผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นออนไลน์รายนี้ เพราะการสร้างบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ในระดับองค์กร และสร้างรายได้ในฝั่งโฆษณา น่าจะมีความยั่งยืนมากกว่า

ที่สำคัญตอนนี้แอปพลิเคชั่นแชท ไม่ใช่แค่ใช้ส่งข้อความหากันอีกต่อไป เพราะสามารถตอบโจทย์ได้หลายเรื่อง เช่นการซื้อขาย, ระบบคลาวด์ และระบบ AI ผ่าน Chatbot ที่มีประสิทธิภาพสูง อย่างที่หลายองค์กรเริ่มใช้ใน Official Account ของ Line ในไทย

สรุป

เมื่อมีฐานลูกค้ามากพอ การเห็น LINE หันไปจริงจังกับการหารายได้จากโฆษณา สามารถสร้างการเติบโตได้เร็วกว่า ด้วยจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้น ทำให้ช่องทางนี้กลายเป็นช่องทางที่สำคัญ ซึ่งการที่ LINE สามารถแทรกตัวเข้ามาเป็นแอปแชทหลักของประเทศไทย (รวมถึงอีก 4 ประเทศ) ทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดบริการอื่นๆ ได้อีก ดังนั้น LINE จึงเร่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์ลูกค้า เป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ในระยะยาว และสร้างความแตกต่างกับผู้ให้บริการรายอื่น

ที่มา: Businessinsider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา