หลายคนรู้จักร้านอาหาร ZEN ที่เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรี่เมี่ยม แต่จริงๆ แล้วในเครือ ZEN Corporation Group ยังมีร้านอาหารอีกหลายแบรนด์ ความท้าทายของ ZEN ในปีนี้คือต้องพัฒนาแบรนด์ใหม่ให้เป็นที่รู้จักให้ได้
ทำให้คนรู้ว่า ZEN ไม่ได้มีแค่ร้านอาหารญี่ปุ่น
ตลาดร้านอาหารในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี มีทั้งผู้เล่นรายใหญ่ และผู้เล่นรายใหม่เข้ามา เพราะตลาดนี้ขึ้นชื่อว่ามีการเติบโตตลอดไม่ว่าจะเศรษฐกิจดี หรือไม่ดี ผู้บริโภคก็ต้องทานอาหาร
ZEN Corporation Group หรือกลุ่ม ZEN เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นรายใหญ่ ทำตลาดมาเกือบ 30 ปีแล้ว เริ่มต้นจากร้านอาหารญี่ปุ่น ZEN เรียกว่าเป็นธุรกิจ Full Restaurant จากนั้นก็ได้เพิ่มแบรนด์ใหม่ๆ ให้มีความหลากหลาย จนในปัจจุบันมีแบรนด์ในเครือทั้งหมด 12 แบรนด์แล้ว ครอบคลุมทั้งอาหารญี่ปุ่น อาหารไทย อาหารเวสเทิร์นฟิวชั่น และสตรีทฟู้ด และขยายบริการ Food Service ด้วย
บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า
“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมนี้กลุ่ม ZEN ได้พัฒนาหลายๆ ด้าน มีความถนัดในธุรกิจหลัก Full Restaurant แต่ก็มองหาโอกาสใหม่ๆ บริการ Food Service ร้านอาหารใหม่ๆ เพราแต่เดิมคนนึกถึงแค่ร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ตอนนี้มีร้านอาหารหลายกลุ่มให้เลือกแล้ว”
รวมถึงเน้นธุรกิจเดลิเวอรี่มากขึ้น เพราะเป็นตลาดที่เติบโตอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ กลุ่ม ZEN จึงต้องเข้าหาทุกแพลตฟอร์ม
เปิดแบรนด์ “เขียง” จับตลาดสตรีทฟู้ด
กลุ่ม ZEN อยู่ตลาด Full Restaurant มาโดยตลอด มีทั้งกลุ่มอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง ซูชิ ไลฟ์สไตล์ เวียดนาม อาหารไทย-อีสาน ในปีนี้ขอลงมาบุกตลาด “สตรีทฟู้ด” เป็นครั้งแรกในแบรนด์ “เขียง” รูปแบบร้านอาหารตามสั่ง อาหารจานด่วนในราคาย่อมเยา เจาะโลเคชั่นปั๊มน้ำมัน มีทั้งแบบลงทุนเอง และแฟรนไชส์
เมื่อดูภาพรวมตลาดร้านอาหารมีมูลค่ารวม 800,000 ล้านบาท กลุ่ม ZEN มีร้านอาหารอยู่ในกลุ่ม 500,000 ล้านบาท มีทั้ง Food Service, Food Restaurant, Street Food และเดลิเวอรี่ ยังขาดกลุ่มคาเฟ่ที่มีมูลค่า 300,000 ล้านบาท
เหตุผลที่ลงมาจับตลาดสตรีทฟู้ดนั้น เพราะมองเห็นว่าตลาดอาหารไทยน่าสนใจสุด คิดเป็นสัดส่วน 70% ของ 800,000 ล้านบาท ความสำคัญของอาหารไทย และสตรีทฟู้ดคือจับกลุ่มลูกค้าได้ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยว สามารถทานได้ทุกวัน ในขณะที่ร้านอาหารญี่ปุ่นได้กลุ่มลูกค้าคนไทยเสียมากกว่า และไม่สามารถทานได้ทุกวัน
ปัจจุบันแบรนด์เขียงมีทั้งหมด 13 สาขา และในปีนี้จะขยายเพิ่มขึ้นอีก 40 สาขา ใช้ทั้ง 2 โมเดล กลุ่ม ZEN ลงทุนเอง และแฟรนไชส์ แบ่งเป็นขยาย 30 สาขาในปั๊มน้ำมัน และอีก 10 สาขา ตามตึกออฟฟิศ หรือตึกแถวริมทาง
บุก “ไมโคร ฟอร์แมต” ปรับไซส์เล็กลงเพื่อเข้าหาลูกค้า
ปัจจุบันกลุ่ม ZEN มีร้านอาหารในเครือทั้งหมด 12 แบรนด์ แบ่งเป้น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ก็คือ กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ ได้แก่ ZEN, Musha by Zen, On the Table, AKA, Sushi Cyu และ Tetsu กลุ่มร้านอาหารไทย ได้แก่ ตำมั่ว, เฝอ, เดอตำมั่ว, ลาวญวน, แจ่วฮ้อน และเขียง
บุญยงบอกว่าตอนนี้แบรนด์ในเครือค่อนข้างตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ครบแล้ว ความท้าทายต่อไปก็คืออยากให้ทั้ง 12 แบรนด์ใกล้กับผู้บริโภคมากที่สุด จึงต้องทรานส์ฟอร์มให้เล็กลง ต้องไปไปในโคชั่นที่มีทราฟฟิก ต้องทำให้สะดวกในการซื้อ มองเห็นได้ง่าย แต่ก่อนลูกค้าต้องมาศูนย์การค้าถึงมองเห็นร้าน แต่ตอนนี้ร้านต้องเข้าไปหาเขาเอง
เท่ากับว่าการขยายสาขาของกลุ่ม ZEN ในอนาคตจะเน้นขนาดร้านที่เล็กลง เพื่อเจาะทำเลใหม่ๆ ที่เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น อาจจะไปอยู่ในโครงการบ้านจัดสรร แนวรถไฟฟ้า โรงพยาบาล ออฟฟิศ
“ให้ความสำคัญกับการขยายสาขาที่มีอยู่ทุกไซส์ จะมีเปิดไซส์เล็กลงเข้าไปถึงลูกค้ามากขึ้น แต่ก่อนจะรอศูนย์การค้าแล้วค่อยขยาย อยากอยู่ในศูนย์การค้า แต่ตอนนี้มีไซส์ที่เล็กลง 50 ตารางเมตรก็เปิดได้แล้ว จากเดิมต้อง 180 ตารางเมตร ไปในโลเคชั่นที่มีอยู่แล้ว ปั๊มน้ำมัน สำนักงาน คอมมูนิตี้มอลล์ ย่านที่อยู่อาศัย ต้องไปทุกเทียร์ให้ได้”
บุญยงเรียกร้านรูปแบบนี้ว่า “ไมโคร ฟอร์แมต” ได้เริ่มทำอย่างจริงจังเมื่อปีที่แล้ว ได้เปิดร้านเล็กสุดขนาด 28 ตารางเมตร เป็นแบรนด์ตำมั่วที่สาขาเมกาบางนา จากเดิมที่เคยเปิดร้านขนาดใหญ่ที่สุด 400 ตารางเมตร ซึ่งโมเดลนี้จะเน้นแบรนด์อาหารไทยอย่างเขียง ตำมั่ว เฝอ มูฉะเป็นหลัก ส่วนแบรนด์ AKA, ZEN และ On The Table จะเป็นรูปแบบปกติ
“ต่อไปในอนาคตอาจจะจะมี ZEN Box ขยายสาขาไปตามศูนย์ประชุม ออฟฟิศก็เป็นได้ ต้อง Outside in ดูตลาดที่เป็น Blue Ocean ต้องปรับเข้าหาผู้บริโภค”
กางแผนหลังเข้าตลาดระดมทุน
ตอนนี้ ZEN Corporation Group ได้ติดปีกเข้าตลาดหลักทรัพย์มีนามสกุล “มหาชน” เป็นที่เรียบร้อย เป้าหมายหลักก็คือต้องการระดมทุนเพื่อต่อยอดในการขยายสาขา เพื่อแข่งขันในตลาด
บุญยงเล่าถึงแผนหลังจากที่พากลุ่ม ZEN เข้าตลาดฯ โดยที่เฟสแรกต้องการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้มากขึ้น เป็นช่องทางเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะธุรกิจอาหารต้องสร้างความเชื่อมั่นทั้งกับผู้บริโภค และนักลงทุน ถึงจะทำให้ขยายสาขาได้เร็ว
อีกเป้าหมายที่สำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่อง “เงิน” มีการระดมทุน ใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสถาบันการเงิน บุญยงบอกว่าหลังเข้าตลาดได้ทุน 1,600 ล้านบาท แบ่งครึ่งหนึ่งไปคืนหนี้ให้สถาบันการเงิน เพื่อเป็นการประหยัดอัตราดอกเบี้ย ลดความเสี่ยงต้นทุนด้านการเงิน
อีกทังยังมีผลประโยชน์ทางอ้อม เพรากลังจากเข้าตลาดฯ ทำให้บริษัทเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ มีมาตรฐานในการทำงาน คนมองว่าเป็นสากลมากขึ้น สร้างความั่นใจ การรับรู้ มีพันธมิตรใหม่ๆ มากขึ้น เอื้อกับธุรกิจแฟรนไชส์
ตอนนี้ทีมผู้บริหารมีทั้งผู้ก่อตั้งที่มี Passion ด้านอาหาร พัฒนาแบรนด์ต่างๆ และมีอีกทีมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Food Service ต่อไปอาจจะมีคนที่มีความรอบรู้ในเรื่องธุรกิจเข้ามาบริหารด้วย อาจจะคุยในเรื่องผู้ถือหุ้นได้ ได้คนเก่งๆ เข้ามาร่วมงานได้ด้วย
12 แบรนด์ครบแล้ว เน้นพัฒนาแบรนด์น้องใหม่ก่อน
ตอนนี้กลุ่ม ZEN มี 12 แบรนด์ในเครือแล้ว ให้น้ำหนักกับแบรนด์น้องใหม่ที่ยังมีสาขาไม่เยอะ อยากพัฒนาแบรนด์ใหม่ก่อน สร้างการรับรู้ก่อน
ในปีนี้มีการวางงบลงทุนไว้ที่ 200 ล้านบาท แบ่งเป็น 170 ล้านบาทในการขยายสาขา และอีก 40 ล้านบาทในการปรับปรุงสาขาเดิม มีแผนเปิด 123 สาขา 70% เป็นร้านไซส์เล็ก และ 60% เป็นแฟรนไชส์ เน้นขยายแบรนด์เขียง กับแบรนด์ไทยเยอะสุด 70 สาขา โดยที่แบรนด์ไทยเน้นขยายที่จำนวนสาขา ส่วนร้านอาหารญี่ปุ่นจะเน้นที่ความพรีเมี่ยม ร้านขนาดใหญ่แต่เปิดไม่กี่สาขา
ปีที่แล้วเปิด 42 สาขา เป็นร้านไซส์ใหญ่ ปกติใช้งบลงทุนเฉลี่ย 5-6 ล้านต่อสาขา ตอนนี้เน้นขยายร้านขนาดเล็กใช้งบลงทุนเพียงแค่ครึ่งนึงของงบปกติ
ปัจจุบันร้านอาหารในเครือมีทั้งหมด 255 สาขา แบ่งเป็น 110 สาขาที่ ZEN บริหารเอง เป็นสาขาในกทม 50% ส่วนอีก 145 สาขาเป็นของแฟรนไชส์ ในปีนี้จะเน้นโมเดลขยายทุกจังหวัด
ส่วนในปี 2561 มีรายได้ 2,200 ล้านบ้านบาท ในช่วง 9 เดือนมีการเติบโตกว่า 20% ปีนี้ตั้งเป้าที่กว่า 20% เหมือนเดิม ตั้งเป้ารายได้ 10,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี โดยที่กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นยังครองสัดส่วน 90% ของรายได้ และร้านอาหารไทย 10% ตั้งเป้ามีสัดส่วน 50% ให้ได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา