สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชี้การแยกสัมปทานในท่าอากาศยานเป็นเรื่องสำคัญ ส่งผลดีต่อนักท่องเที่ยว และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 50,000 ล้าน
ประเทศไทยบูมการท่องเที่ยว แต่มีดิวตี้ฟรีรายเดียว
ใกล้จะหมดสัมปทานดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานในไทยในเดือนกันยายน 2563 แต่เดิมในประเทศไทยมีเพียง “คิง เพาเวอร์” เป็นผู้ได้รับสัมปทานในการบริการสิทธิ์เชิงพาณิชย์แต่เพียงผู้เดียว กลายเป็นข้อถกเถียงกันว่าประเทศไทยไม่ควรมีสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว เพราะประเทศอื่นๆ ล้วนมีหลายรายเพื่อเพิ่มการแข่งขัน
มีหลายประเด็นมากมายสำหรับดิวตี้ฟรีในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นอันดับ 4 ของโลก หรือราวๆ 35.4 ล้านคน เป็นตัวเลขที่มากกว่าประเทศเกาหลีใต้เกือบ 3 เท่า หรือ 13.3 ล้านคน แต่ดิวตี้ฟรีในไทยเล็กกว่าประเทศเกาหลีใต้ถึง 6 เท่า เกาหลีใต้มียอดขายสินค้าดิวตี้ฟรี 10,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยมียอดขาย 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ
จะเห็นได้ว่าสนามบินสุวรรณภูมิมีผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีผูกขาดเพียงแค่รายเดียว ในขณะที่สนามบินชั้นนำอื่นๆ มีผู้ประกอบการอย่างต่ำ 3 ราย เช่น สนามบินฮ่องกงมี 4 ราย สนามบินชางงีมี 3 ราย สนามบินอินชอนมี 12 ราย สนามบินนาริตะมี 4 ราย แม้กระทั่งสนามบินที่มีขนาดเล็กอย่างกัมพูชายังมีผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี 3 ราย
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไทยมีผู้ประกอบการรายเดียวแน่นอว่าเกิดการผูกขาด ผู้ประกอบการได้นำพื้นที่ไปจัดสรร แล้วเก็บค่าเช่าที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดปัญหาราคาสินค้า และบริการภายในสนามบินสูงนั่นเอง
ต้องแบ่งสัมปทานเป็น 3 กลุ่ม ลดการผูกขาด
ล่าสุดทางท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 3 / 2562 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 เรื่องหลักเกณฑ์การให้สิทธิ และเห็นชอบแนวทางในการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท.โดยให้แยก 3 สัญญาใหญ่ ได้แก่ กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (Retail, F&B, Service และ Bank) และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ออกจากกัน
วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้เสนอแนวทางสัมปทานที่เหมาะกับท่าอากาศยานประเทศไทย ควรจะเป็น “สัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า” เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เพิ่มความหลากหลายของสินค้า และสร้างรายได้เข้าประเทศมากขึ้นอย่างน้อย 50,000 ล้านบาทต่อปี หรือ 5 แสนล้านบาทตลอดระยะเวลาสัมปทาน
3 สัญญาใหญ่ ได้แก่ กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (Retail, F&B, Service และ Bank) และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ออกจากกัน
การใช้ระบบสัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้า เช่น หมวดเครื่องสำอาง หมวดสุรา และบุหรี่ หมวดสินค้าแฟชั่น จะทำให้มีความหลากหลายของสินค้า สินค้ามีคุณภาพ และไม่ถูกจำกัด ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตมากขึ้น จากการที่นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเลือกซื้อสินค้าถูกใจได้มากขึ้น ให้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสินค้าเข้ามาบริหาร
สนามบินสุวรรณภูมิที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ถึง 12,000-15,000 ตารางเมตร และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากปีละมากกว่า 60 ล้านคน ควรกำหนดหลักเกณฑ์สัมปทานแบบหมวดหมู่สินค้า (Concession by Category) มากกว่าการกำหนดให้เป็นสัมปทานแบบรายเดียว (Master Concession) ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการแข่งขันที่สมดุลและเป็นธรรม
และควรเก็บค่าธรรมเนียมสัมปทานให้เท่ากับมาตรฐานสากลเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 30%-40% เพราะตอนนี้สนามบินสุวรรณภูมิมีการเก็บค่าธรรมเนียมสัมปทาน 15-21% สนามบินดอนเมือง สนามบินนานาชาติภูเก็ต 19% เมื่อเทียบกับสนามบินอินชอน 40% สนามบินชางงี 46%
ในประเด็นเรื่อง การเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Public Pick Up Counter) สมาคมเรียกร้องให้ ทอท. เป็นผู้ดำเนินการให้บริการเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ โดยไม่ต้องเปิดสัมปทาน หรือหากจะให้สัมปทานควรกำหนดหลักเกณฑ์ว่า ผู้ที่จะเข้าประมูลสัมปทานในกรณีนี้ต้องไม่ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองหรือมีส่วนได้เสียในสัมปทานร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี)
เพราะผู้ที่ได้สัมปทานที่เป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในสนามบินอาจจะสามารถล่วงรู้ข้อมูลของผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่เป็นคู่แข่งคู่แข่ง จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน สมาคมฯ มีความเห็นว่าฝ่ายบริหาร ทอท. ควรเป็นผู้ดำเนินการจุดรับมอบสินค้าสาธารณะเอง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา