ธปท.เร่ง Sandbox ให้ผู้ประกอบการพัฒนา 5 เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตคนไทย

ทั่วโลกรวมถึงไทยมีเทคโนโลยีการเงิน หรือ Fintech เกิดขึ้นต่อเนื่อง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เป็นผู้กำกับการเงินในประเทศจึงต้องพัฒนาให้ทัน ตั้งแต่ ม.ค. 2017 แบงก์ชาติสร้าง Regulatory Sandbox มากำหนดให้ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในไทยต้องผ่านการทดลองใน Sandbox นี้ก่อน แล้วปีนี้จะมีอะไร ออกมาให้คนไทยเห็นบ้าง?

ธปท.เร่งผู้ประกอบการพัฒนา 5 เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตคนไทย

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ตั้งแต่เปิดโครงการ Regulatory Sandbox มีธนาคารพาณิชย์และ Non-bank เข้าร่วมทดสอบนวัตกรรมกว่า 38 โครงการ มี 15 โครงการที่ Exit (ทดสอบเสร็จแล้วสามารถเปิดใช้บริการได้) ไปแล้ว

“15 โครงการใน Regulatory Sandbox ที่ Exit ไปแล้วส่วนใหญ่เป็น Thai QR Code 11 โครงการเป็น QR Code ProptPay และอีก 4 โครงการเป็น QR Code Credit/debit Card ซึ่งเปิดให้ใช้บริการโดยทั่วไปแล้ว ตอนนี้มีร้านค้าที่ติดตั้ง QR Code แล้ว 3 ล้านร้านค้า”

ทั้งนี้เทคโนโลยีที่เข้ามาทดสอบใน Sandbox แบ่งเป็น 5 เทคโนโลยีได้แก่

  • QRcode ที่ยังทดสอบอยู่ใน Sandbox อีก 4 โครงการเป็น QRcode Credit/Debit
  • Biometric (เทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้ในการระบุตัวตน เช่น ลายนิ้วมือ เสียง ใบหน้า ฯลฯ) มี 10 โครงการใช้ Facial Recognition เพื่อการทำ KYC (ใช้ใบหน้าระบุตัวตน) และอีก 1 โครงการคือ Iris Recognition (การใช้ม่านตาเพื่อระบุตัวตน)
    ทั้งนี้การใช้ Biometric จะเพิ่มความสะดวกในการระบุตัวตน มีความปลอดภัยมากขึ้น ต่อไปประชาชนสามารถเปิดบัญชีธนาคารได้โดยไม่ต้องเข้าสาขาธนาคาร แต่สามารถระบุตัวตนด้วย Biometric ผ่านขั้นตอนออนไลน์ ที่สำคัญยังเพิ่มขึ้น
  • Blockchain แบ่งเป็น 2 บริการ คือ 1) ปรับใช้ในหนังสือค่ำประกัน (LG) ซึ่งทดสอบระบบรวมกันทั้งธนาคาร ธุรกิจ และรัฐวิสาหกิจ  2) ปรับใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศ
  • Machine learning หรือการเรียรู้ของเครื่องจักร มีเข้าทดสอบอยู่ 1 โครงการใช้ทำ Credit Scoring/Info. based lending
  • Standardized API มีการทดสอบอยู่ 1 โครงการเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และ Fintech firm ต่างๆ รวมถึงธปท. แลกเปลี่ยนข้อมูลได้ง่ายขึ้น

แบงก์ชาติเตรียม P2P Lending-Social Commerce-PayAlert

สิริธิดา บอกว่า ความคืบหน้าบริการใหม่ๆ แก่ประชาชนได้แก่ ในวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมาทางธปท. ประกาศเกณฑ์ P2P Lending บนเว็บไซด์เสมือนการ Public Hearing ทั้งนี้ยังขยายบริการต่อเนื่องจาก PromptPay และสนับสนุนการซื้อขายสินค้าออนไลน์ E-commerce ต่างๆ เช่น ระบบ Social Commerce ผ่านตัวกลาง Escore เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า

“ปัจจุบันคนที่ซื้อของออนไลน์ไม่กล้าโอนเงินไปที่คนขายก่อน เพราะกลัวไม่ได้รับสินค้า ส่วนคนขายของออนไลน์ก็กลัวว่าส่งของไปแล้วจะไม่ได้เงิน ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ระบบแบงก์ชาติเตรียมทำระบบ Social Commerce เมื่อลูกค้าซื้อของเงินจะโอนมาเก็บไว้ที่ตัวกลางอย่าง Escore ก่อน พอสินค้ามาถึงลูกค้าคอนเฟริม ก็กดโอนเงินให้ผู้ขายได้เลย”

นอกจากนี้ปัจจุบันธนาคารเริ่มให้บริการ PayAlert หรือระบบการเตือนเพื่อจ่าย ทั้งนี้เป็นบริการที่ต่อยอดกับ PromptPay โดยร้านค้า และประชาชนทั่วไปสามารถส่งการแจ้งเตือนเพื่อให้ลูกค้า หรือเพื่อนคืนเงินได้ง่ายขึ้น

สรุป

เทคโนโลยีทั่วโลกพัฒนาไปไกล แต่ไทยก็ต้องตามให้ทัน ดังนั้นผู้กำกับอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยต้องตามให้ทัน แต่ต้องดูแลประชาชนในประเทศด้วย เมื่อ 2 ปีก่อนเลยเปิดตัว Sandbox เหมือนในต่างประเทศ แต่ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพหลายเจ้ายังรู้สึกว่า Sandbox ของไทยยังปิดกั้นมากกว่าเปิดกว้างเท่าที่ควร เพราะกว่าจะได้เข้าทดสอบใน Sandbox ก็มีเกณฑ์มากมายในขณะที่ต่างประเทศใช้แนวคิด Sandbox คือกระบะทรายเด็กเล่น คือ ให้ผู้ประกอบการสามารถทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เต็มที่โดยใน Sandbox ยังมีเครื่องมือให้ทดสอบเพียบ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา