เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกระทบเงินในกระเป๋าของผู้ส่งออกไทย ส่วนคนจะไปเที่ยวนอกแลกเงินได้ถูกลง แต่หลังจากนี้ค่าเงินบาทจะแข็งค่ากว่านี้หรือไม่?
เงินบาทอยู่ที่ 31.08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย บอกว่า วันที่ 20 ก.พ. 2019 ค่าเงินบาทแข็งค่าแตะ 31.085 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าแข็งค่าหนักที่สุดในรอบ 6 ปี (นับตั้งแต่ปลายปี 2013)
ทั้งนี้คาดว่าค่าเงินบาทอาจแข็งค่าไปถึง 30.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้โดยสาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่าในปัจจุบันมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1. ความต้องการเงินบาทยังคงสูงอยู่สะท้อนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง
2. ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่อเนื่องหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง
3. แนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ (Trade War) ดูสดใสขึ้น ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย
สัปดาห์นี้ (18-22 ก.พ. 2019) ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีทิศทางอยู่ในเกณฑ์แข็งค่า ปัจจัยลบที่ต้องจับตามองคือ การเมืองในไทยหากมีความวุ่นวายอาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นไปอยู่ในระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือหากตลาดหุ้นทั่วโลกตกต่ำอาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 31.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
“ค่าเงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า โดยคาดว่าสัปดาห์นี้จะคึกคักขึ้น เนื่องจากมีการรายงานตัวเลขจีดีพีในวันจันทร์ (18 ก.พ. 2019) โดยรวมเราเชื่อว่าฝั่งตลาดทุนจะเป็นตัวนำทิศทางเงินบาทในสัปดาห์นี้ มองว่าเงินบาทแข็งค่าได้ถ้ามีเงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้นและบอนด์ไทย ขณะที่ปัจจัยลบจะมีเพียงบอนด์ยีลด์สหรัฐที่อาจปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันที่ยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อ”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา