เทคโนโลยีเพื่อการยืนยันตัวบุคคลปัจจุบันไปไกลกว่าการสแกนลายนิ้วมือ เพราะสามารถใช้ได้ทั้งใบหน้า เสียงหรือดวงตา ฯลฯ แต่ที่สำคัญคือนำมาใช้อย่างไร ถ้าไทยมี Digital ID เกิดขึ้น ประชาชนอาจไม่ต้องไปเสียเวลาเป็นวันๆ แบกสำเนาเอกสารเป็นตั้งๆ ไปหาหน่วยงานรัฐแล้ว แต่สามารถใช้กระบวนการยืนยันตัวตนแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะสะดวกมากยิ่งขึ้น
ภาพจาก Shutterstock
ไม่ต้องไปสาขาแบงก์-หน่วยงานรัฐ ก็ทำธุระได้ด้วย Digital ID
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์กรมหาชน) บอกว่า ไทยกำลังเร่งทำ Digital ID ให้ประชาชนสามารถใช้เอกสารของภาครัฐในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะทำธุรกรรมต่างๆ ง่ายขึ้น ล่าสุดที่รัฐบาลทำเสร็จแล้วคือความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ ให้ประชาชนใช้สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน และสำเนานิติบุคคลแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว
“ต่อไปถึงเวลาที่ประชาชนจะเก็บเอกสารต่างๆ เป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเอง คล้ายๆ เป็น Digital Inbox ว่าง่ายๆ คือ เมื่อประชาชนไปติดต่อกับภาครัฐจากเดิมที่ต้องใส่ที่อยู่ติดต่อได้เป็นที่อยู่บ้าน ในปัจจุบันสามารถเพิ่มช่องทางติดต่อบนดิจิตอลแล้ว (เช่น อีเมล์) กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็จะออกมาเร็วๆ นี้”
ทั้งนี้ Digital ID ใช้ยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรมได้ อย่างประชาชนสามารถเปิดบัญชีธนาคารได้โดยไม่ต้องไปที่สาขาแบงก์ ถ้าก่อนหน้านี้เคยระบุตัวตนหรือลงทะเบียน Digital ID กับธนาคารแห่งหนึ่งไว้แล้ว ซึ่งการลงทะเบียนตัวตนต้องใช้หน่วยงานที่มีความเชื่อมั่น และคนคุ้นเคย อาทิ ธนาคาร ฯลฯ
“ส่วนการระบุตัวตน ระยะนำร่องจะใช้ใบหน้ายืนยันตัวตน เช่น การลงทะเบียน Digital ID ของผมเริ่มจากไปสแกนหน้า ถ่ายรูปเป็นร้อยรูปที่ NDID (บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด บริษัทที่ดูแลเรื่อง Digital ID) และทดสอบว่าใช้ได้จริง นี่คือนวัตกรรมที่ integrate จากสิ่งที่ภาคเอกชนมีเข้ามาที่ภาครัฐให้เกิด ecosystem นี่คือสิ่งที่ภาครัฐเปลี่ยนวิธีการทำ”
Digital ID จะเกิดขึ้นได้ กฎหมายไทยต้องพร้อม
ดร.ศักดิ์ บอกว่า Digital ID จะเกิดขึ้นได้ต้องปลดล็อกกฎหมายในไทย ล่าสุดกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิตอล ขณะนี้ผ่านวาระ 1 อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงกรรมาธิการ และนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อเนื่องถึงวาระ 2 และวาระ 3
“กฎหมายจะช่วยปลดล็อก Digital ID เรื่องการใช้ข้อมูล เริ่มที่ภาครัฐที่ต้องทำข้อมูลเป็นดิจิตอลตั้งแต่แรก รวมถึงการเตรียมข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล อันนี้ต้องอ้างอิงร่างพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะเสร็จเร็วๆนี้ หากพรบ.นี้เสร็จเรียบร้อย ตัวประชาชนเราในฐานะเจ้าของข้อมูลเมื่ออนุญาตหน่วยงานรัฐให้ส่งต่อข้อมูลไปที่อื่นๆ รัฐก็ต้องส่งต่อให้”
อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ไม่ได้รับการอนุมัติจากลูกค้าให้ส่งไปหน่วยงานอื่น สามารถส่งต่อได้เมื่อตัดข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ อาชีพ ฯลฯ ส่วนนี้จะทำให้ฝั่งการเงินนำข้อมูลไปวิเคราะห์สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ นอกจากนี้จะเกิด ธรรมาภิบาลข้อมูล หรือ Data Governance เช่น กำหนดบทบาทคนที่รับผิดชอบข้อมูล การอธิบายข้อมูลให้ชัดเจน ต้องช่วยกันสร้างให้เกิดขึ้น
สรุป
National Digital ID คนไทยได้ยินกันมา 1-2 ปีแล้ว มาลุ้นกันว่าปีนี้ ไทยจะมี Digital ID เกิดขึ้นไหม? เพราะถ้าเริ่มใช้จริงแสดงว่าเราอาจไม่ต้องไปเสียเวลาเป็นวันๆ แบกสำเนาเอกสารเป็นตั้งๆ ไปหาหน่วยงานรัฐ หรือธนาคารแล้ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา