ถือเป็นเซอร์ไพร์สของวงการโทรคมนาคมในบ้านเรา เมื่อ อเล็กซานดรา ไรช์ ซีอีโอ ของ dtac ลุกขึ้นมาเปิดตัวธุรกิจใหม่ “จักรยานยนต์ไฟฟ้า” โดยเกาะกับกระแสฝุ่นควัน PM 2.5 ที่มาแรงในเดือนมกราคม 2562
จุดนี้หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไม dtac ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังได้ตัวซีอีโอคนใหม่ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และปรับทัพหลังบ้านใหม่หมดเพื่อแก้ปัญหาหลายๆ อย่างที่รุมเร้ามานาน จู่ๆ ถึงได้หันมาขยายธุรกิจใหม่ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
คำตอบคงอยู่ในงานแถลงข่าวของ dtac เองที่ประกาศว่าต้องการ “เป็นมากกว่าผู้ให้บริการมือถือ” หรือสโลแกนภาษาอังกฤษว่า “Go Beyond Basic Connectivity” ซึ่งเป็นทิศทางที่โอเปอเรเตอร์ทั่วโลกกำลังมุ่งไป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงข่ายที่ลงทุนไปแล้ว
อเล็กซานดรา อธิบายว่าบทบาทของ dtac ไม่ได้เป็นการผลิตหรือนำเข้ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าด้วยตัวเอง แต่ตั้งใจเป็นตัวกลางให้บริการแพลตฟอร์ม EV Connectivity ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ผลิตรถไฟฟ้า EV เข้ากับพาร์ทเนอร์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น บริษัทประกัน บริษัทเช่าซื้อและสถาบันการเงินและสินเชื่อ บริการเปลี่ยนถ่ายแบตเตอรี่หลายจุดทั่วกรุงเทพฯ บริการการรับชำระเงินผ่านระบบบิลลิ่งของดีแทคและพันธมิตร รวมถึงบริการซ่อมบำรุงหลังการขาย
พาร์ทเนอร์รายสำคัญของ dtac ในธุรกิจนี้คือ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART เจ้าของตู้บุญเติม เป็นจุดให้บริการชาร์จมอเตอร์ไซด์ EV และ บริษัท เอ็มวิชั่น จำกัด(มหาชน) ผู้จัดงาน Thailand Mobile Expo และภายหลังขยายมาเป็น Bangkok EV Expo ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานกับผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารายต่างๆ
หากพิจารณาจากยุทธศาสตร์ของ dtac ในครั้งนี้แล้ว หลักคิดคงไม่ต่างกับโอเปอเรเตอร์คู่แข่งรายอื่นๆ ทั้ง AIS และ True ที่พยายามหันมาลุยตลาดเครือข่ายสำหรับอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ที่เป็นตลาดใหม่ในอนาคตที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เป็น “มนุษย์” เริ่มอิ่มตัว
ส่วนในรายละเอียดว่าแต่ละค่ายเลือกหยิบจับแง่ไหนของ IoT มาลงมือทำ ก็คงแตกต่างกันไป กรณีของ AIS ที่แถลงวิสัยทัศน์เรื่อง IoT มาแล้วหลายปี ก็ชัดเจนว่าในแง่ว่าเน้นความกว้าง (width) ของโซลูชันหลากหลายชนิด เปิดแพลตฟอร์มจับมือกับพาร์ทเนอร์หลายรายเพื่อพัฒนาระบบ IoT และ Smart City โดยมีจุดร่วมกันคือต้องอยู่บนเครือข่ายของ AIS ไม่ว่าจะเป็น 3G, 4G หรือเทคโนโลยีเฉพาะอย่าง NB-IoT
ส่วนฝั่ง True ก็ไม่ต่างกัน ดังจะเห็นได้จากการออกโครงการพัฒนาอุปกรณ์ฝังตัว IoT ในลักษณะเดียวกัน
การที่ dtac ซึ่งมาทีหลังสุด กลับเลือกเปิดตัวธุรกิจใหม่ด้วยจักรยานยนต์ไฟฟ้า แทนที่การเจาะเน้นลงเรื่องเทคนิคเหมือนคู่แข่ง จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย และสะท้อนให้เห็นว่า dtac เริ่มเปลี่ยนสถานะจาก “ตั้งรับ” ทำการบ้านแก้ไขปัญหาเครือข่ายและบริการของตัวเองโดยไม่สนใจใคร กลายมาเป็นเดินเกม “รุกกลับ” ไปหาคู่แข่งได้บ้างแล้ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา