บังคลาเทศคือแหล่งผลิตเสื้อผ้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ล่าสุดมีแรงงานกว่า 50,000 ออกมาประท้วงขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะยืดเยื้อ และมีบางคนต้องตกงาน
ปลดแรงงาน 5,000 คน โทษฐานที่ไปร่วมชุมนุม ไม่มาทำงาน
โรงงานผลิตเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในบังคลาเทศที่ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ดังอย่าง H&M, Walmart, Gap และอีกหลายแบรนด์ทั่วโลก ได้ปลดพนักงานออกกว่า 5,000 คน เหตุเพราะออกมาประท้วงให้รัฐบาลเพิ่มค่าแรง
การประท้วงของแรงงานผลิตเสื้อผ้าในบังคลาเทศที่คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ เกิดขึ้นในธากา เมืองหลวงของบังคลาเทศตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา
การประท้วงเริ่มต้นจากความไม่พอใจที่รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนปี 2018 โดยปรับจาก 63 ดอลลาร์ เป็น 96 ดอลลาร์ต่อเดือน (ปรับจาก 1,971 บาท เป็น 3,004 บาท)
- ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วงคือต้องการให้รัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 193 ดอลลาร์ต่อเดือน (6,040 บาท)
การประท้วงร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่ความรุนแรงบนท้องถนน ตำรวจมีการปราบปราม พบผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 50 คน
ล่าสุด มีรายงานว่า โรงงานผลิตเสื้อผ้ารายใหญ่แห่งหนึ่งได้ปลดพนักงานออกว่า 5,000 คน โดยบางแหล่งข้อมูลระบุว่า ตัวเลขแรงงานที่ถูกปลดอาจสูงถึง 7,000 คน
อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบข่าวดังกล่าว H&M ได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ในบังคลาเทศ
[ข้อมูลเสริม] ในบังคลาเทศมีโรงงานผลิตเสื้อผ้ากว่า 4,500 แห่ง และมีแรงงานผลิตเสื้อผ้ากว่า 4.1 ล้านคน โดยบังคลาเทศถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นฐานผลิตเสื้อผ้าที่มีค่าแรงถูกที่สุดในโลก แต่เม็ดเงินจากส่วนนี้ทำรายได้ให้กับประเทศได้มากถึง 80%
ที่มา – Quartz, Al Jazeera
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา