ยักษ์ใหญ่พรมไทยขึ้นเบอร์หนึ่งตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่อังกฤษ กับการเขียนสตอรี่ใหม่ของรุ่นสอง

ประโยค “คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” ยังคงใช้ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะล่าสุดองค์กรไทยอายุเก่าแก่กว่า 49 ปี อย่างบมจ.อุตสาหกรรมพรมไทย หรือ TCMC เบอร์หนึ่งตลาดพรมไทย ผ่านแชร์ในตลาด 40% ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่ประเทศอังกฤษเช่นกัน แต่การขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งได้อย่างไร คงต้องติดตามกันในบรรทัดถัดไป

พิมล ศรีวิกรม์ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร TCMC
พิมล ศรีวิกรม์ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร TCMC

ควบรวมกิจการคือการโตทางลัด

พิมล ศรีวิกรม์ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร TCMC บอกว่า ตั้งแต่ทำธุรกิจมาบริษัทไม่เคยขาดทุน ยกเว้นปี 2540 ที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ด้วยตลาดพรมทั้งในไทย และทั่วโลกไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้รายได้บริษัทโตเพียง 3 – 5% ซึ่งค่อนข้างช้าในปัจจุบัน จึงมองหาวิธีใหม่ในการสร้างธุรกิจให้เติบโต ซึ่งการควบรวมกิจการ หรือ M&A คือทางที่บริษัทตัดสินใจ และทำให้ TCMC ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งตลาดเฟอร์นิเจอร์ในประเทศอังกฤษได้

“ที่ TCMC ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่ประเทศอังกฤษ เพราะปี 2558 เราซื้อกิจการ Alstons เบอร์ 8 ของตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่อังกฤษ ผ่านรายได้กว่า 1,500 ล้านบาท/ปี และปี 2559 ก็เข้าซื้อกิจการ DM Midlands เบอร์ 2 ของตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่อังกฤษ ผ่านรายได้ 3,000 ล้านบาท/ปี และมีแชร์ในตลาด 8% ของตลาดนี้ ผ่านงบประมาณ 1,600 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้ก็ยังมองหาธุรกิจในประเทศอื่นๆ แต่เน้นที่พูดภาษาอังกฤษ และทำธุรกิจคล้ายกับ TCMC เพื่อซื้อกิจการต่อไป”

ตัวอย่างชุดโซฟาของ DM Midlands
ตัวอย่างชุดโซฟาของ DM Midlands

ไม่ใช่เพิ่งมอง M&A เพราะทำมาเกือบ 10 ปี

ทั้งนี้กลยุทธ์ M&A ของ TCMC ไม่ได้ทำแค่ 2 ครั้ง แต่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 ที่เข้ารวบกิจการ United Carpet หนึ่งในคู่แข่งผู้ผลิตพรมในประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำตลาดทั้งใน และต่างประเทศ หลังจากนั้นก็เข้าไปควบรวมกิจการ T.C.H. Suminoe ผู้ผลิตผ้าหุ้มเบาะ และพรมรถยนต์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นในปี 2557 ซึ่งท้ังหมดนี้ช่วยให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นข้อพิสูจน์ที่ดีว่ากลยุทธ์ M&A สามารถสร้างธุรกิจได้ด้วย

อย่างไรก็ตามกาเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศครั้งล่าสุดมูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท หรือราว 26.25 ล้านปอนด์ เพื่อถือหุ้นของ DM Midlands ทั้งหมด 75% TCMC ได้กู้เงินจากธนาคารกรุงเทพสาขาลอนดอนเป็นสกุลเงินปอนด์จำนวน 20 ล้านปอนด์ ส่วนที่เหลือ 6.25 ล้านปอนด์นำมาจากการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนอีกทางหนึ่ง แต่ TCMC ไม่ได้มีกลยุทธ์แค่ M&A อย่างเดียว ยังมีการเพิ่มโปรดักต์ใหม่ตั้งแต่ปี 2554 คือวัสดุไม้ปูพื้น เพื่อสร้างฐานการเติบโตแบบ Organic Growth ให้แข็งแกร่งขึ้น

การเซ็นสัญญาระหว่างสองบริษัท
การเซ็นสัญญาระหว่างสองบริษัท

สตอรี่ใหม่ของรุ่นสองที่ไม่เหมือนเก่า

สำหรับ พิมล ศรีวิกรม์ ถือเป็นรุ่นที่สองของธุรกิจ TCMC หลังจากคุณพ่อ เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เสียไปเมื่อปี 2554 ดังนั้นการสร้างเรื่องราวใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ TCMC ที่มีอายุเกือบ 50 เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งแผน M&A ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะทำให้ TCMC ปีนี้มีรายได้ถึง 3,200 ล้านบาท มาจากการส่งออก 55% และขายในประเทศ 45% และการซื้อ DM Midlands จะบันทึกรายได้ในปีหน้า ซึ่งมีโอกาสให้รายได้ TCMC เติบโตแบบเท่าตัว

“TCMC เป็นบริษัทเก่าแก่ มีสองแบรนด์ที่ทำตลาดเองคือ Taiping ที่เป็นพรมขายในไทย และ Royal Thai ที่เป็นพรมส่งออกในต่างประเทศ โดยพรมของเราส่วนใหญ่จะขายเข้าไปในองค์กร กับสถานที่ขนาดใหญ่ เช่นโรงแรม, เรือยอร์ช และพระราชวัง หนึ่งในนั้นคือพระบรมหาราชวังของไทยที่บริษัทเป็นผู้ออกแบบพรมให้ ทำให้คุณภาพของเราถูกยอมรับทั้งในไทย และระดับโลกแล้ว แต่ถ้าอยู่แค่พรมก็คงไม่ใช่ ผมจึงต้องสร้างสตอรี่ใหม่ๆ เพื่อให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด และยั่งยืน”

สรุป

M&A เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อเข้าไปซื้อกิจการ ก็เท่ากับว่ารายได้ของบริษัทใหม่ก็จะบันทึกเข้ามาในบริษัททันที แต่ทุกอย่างก็ต้องดูที่วัฒนธรรมองค์กร และตัวธุรกิจว่าเข้ากับธุรกิจหลักของบริษัทได้หรือไม่

ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้เห็นการควบรวมกิจการของรายใหญ่ กับรายเล็กในหลากหลายอุตสาหกรรมกันอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากนี้อาจเห็นการควบรวมของรายเล็ก กับรายเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ เพราะรวมกันเราอยู่ แยกกันอาจเสียชีวิตทั้งคู่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา