ใครๆ ก็อยากกู้เงินกับสถาบันการเงินหรือบริษัทที่มีใบอนุญาตปล่อยสินเชื่อโดยตรง เพราะเชื่อว่าดอกเบี้ยจะถูกกว่านอกระบบ แถมมีหลักเกณฑ์ชัดเจนกว่าการไปกู้เจ้าหนี้ที่เป็นคนทั่วไป แต่ปัญหาใหญ่คือ หลายคนไม่มีเอกสารทางการเงิน เช่น สลิปเงินเดือน หรือแหล่งรายได้ในระบบ ฯลฯ บางครั้งต้องตัดใจกู้นอกระบบมาใช้ก่อนซึ่งเสียเปรียบหลายทาง
ซัมมิท แคปปิตอล ชูจุดแข็งลูกค้าไม่มีเงินเดือน-ไม่มีรายได้ประจำก็กู้ได้
วิชิต พยุหนาวีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซัมมิท แคปปิตอล ลีสซิ่ง จำกัด (บริษัทในเครือของซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น) บอกว่า ปี 2019 บริษัทจะออกโปรดักส์การเงินตัวใหม่ ที่ยังอยู่ในหมวดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซด์) โดยจะขยายฐานลูกค้ากลุ่มไม่มีรายได้ประจำทั่วประเทศ ซึ่งตอนนี้วางแผนตัวโปรดักส์ไว้แล้ว รอการอนุมัติของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อ Hearing (การรับข้อคิดเห็นจากภาคเอกชน และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง) โปรดักส์ประเภทนี้ในวันที่ 25 ม.ค. 2562
“ซัมมิทฯ เราทำสินเชื่อรถมอเตอร์ไซด์มาหลายสิบปี ปี 2559 ขยายมาทำสินเชื่อส่วนบุคคล (PLoan) และปี 2562 นี้น่าจะออกสินเชื่อตัวใหม่ มาขยายฐานลูกค้าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มไม่มีรายได้ประจำ เพราะตอนนี้มีฐานลูกค้ากลุ่มนี้อยู่หลายอาชีพทั่วประเทศ เช่น เกษตรกร ชาวสวน วินมอเตอร์ไซด์ ฯลฯ ซึ่งสามารถกู้ซื้อมอเตอร์ไซด์ได้อย่างทั่วถึง ทำให้ปีนี้คาดว่าฐานลูกค้าสินเชื่อใหม่มอเตอร์ไซด์จะเติบโตกว่า 10% จากปีก่อน”
เป้าบริษัทฯ ปี 62 รายได้ต้องโต 15% แม้ยอดขายมอ’ไซด์ตก-กำไรลดลงเพราะดอกเบี้ยขาขึ้นและเศรษฐกิจโตชะลอ
ปี 2562 เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโต 3.8% ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจจะกระทบกับกลุ่มลูกค้าในภาคเกษตร และบริษัทส่งออกของไทย นอกจากนี้ปี 2562 คาดว่ายอดขายมอเตอร์ไซด์ใหม่จะหดตัว 1-2% จากปี 2561 มาอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังเป็นขาขึ้นภายในปี 2562 น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2% สวนทางกับการแข่งขันในตลาดสินเชื่อมอเตอร์ไซด์ที่ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ขยับขึ้นตามไม่ได้ จึงส่งผลให้ต้นทุนการเงิน (Cost of fund) ของบริษัทเพิ่มขึ้นและรายได้จากแต่ละผลิตภัณฑ์สินเชื่ออาจจะลดลง
“ไม่ว่าปีนี้จะมีปัจจัยลบอย่างไร แต่ซัมมิทฯ ยังตั้งเป้าหมายว่าปีนี้ รายได้ของบริษัทต้องโต 15% จากปีก่อน ยอดสินเชื่อใหม่ต้องโต 9-10% จากปีก่อน ฐานลูกค้าต้องเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน และต้องคุมหนี้เสีย (NPL) ให้ไม่เกิน 1% เพราะถ้าต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ย เราต้องทำเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้มีคุณภาพมากขึ้น ทำเรื่องตามหนี้ให้ดีขึ้นก็จะช่วยชดเชย NIM (ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ) ที่ลดลง แต่การทำกระบวนการทำงาน ทำระบบภายใน ทำบริการให้ดีขึ้น ปีนี้บริษัทยังลงทุนพัฒนาด้านา IT อีกเกือบ 100 ล้านบาท เพื่อสร้างผลดีกับบริษัทในระยะยาว”
นอกจากนี้การหารายได้ชดเชยส่วน NIM ที่หายไป บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มพันธมิตรดีลเลอร์มอเตอร์ไซด์อีก 10% เป็นจากปัจจุบันมีอยู่ 900 ราย นอกจากนี้ยังทดลองตลาดสินเชื่อ PLoan ต่อเนื่องในกลุ่มลูกค้าที่เป็นพนักงานประจำรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ปีนี้คาดว่าสินเชื่อจะเติบโตมาอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท
สรุป
แม้เศรษฐกิจจะไม่ดีอย่างไร แต่มอเตอร์ไซด์ถือเป็นของจำเป็น ไม่ว่าจะพนักงานใช้เดินทางไปทำงาน เกษตรกร วินมอเตอร์ไซด์ก็ใช้รถทำมาหากินทั้งนั้น ดังนั้นสินเชื่อลีสซิ่งกลุ่มนี้ยังโตต่อเนื่อง แต่การขยายตลาดไปที่สินเชื่อจำนำทะเบียน (ธปท.เปิด Hearing ในวันที่ 25 ม.ค.) เรียกว่าจะเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีมอเตอร์ไซด์ปลอดหนี้ หรือลูกค้าเก่าที่ประวัติดี จ่ายหนี้หมดแล้ว แต่มีปัญหาต้องการเงินด่วนก็ขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เรียกว่าบริษัทได้ใช้ข้อมูลที่เก็บไว้และได้ลูกค้าวนใช้สินเชื่อได้เรื่อยๆ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา