ถอดรหัสอุตสาหกรรมกาแฟไทยไปกับ “ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” คนเข้มๆ ที่หวังยกระดับกาแฟไทยไประดับโลก

มีนามสกุลใหญ่ติดตัว แถมมีดีกรีนักเรียนนอก แต่ทำไมตอนนี้ชายหนุ่มวัย 30 ต้นๆ อย่าง “ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ถึงเลือกกลับมาพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟไทย โดยเฉพาะกับการให้ความรู้กับชาวสวนกาแฟในภาคเหนือกันล่ะ?

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ
ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

พัฒนาตั้งแต่ระดับต้นน้ำคือเรื่องจำเป็น

ปัจจุบันอุตสาหกรรมกาแฟในระดับโลกนั้นมีมูลค่าประมาณ 3 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.55 ล้านล้านบาท) แต่มูลค่านี้มันอยู่ในประเทศผู้ผลิตกาแฟแทบจะไม่ถึง 1% เพราะประเทศชั้นนำที่ปลูกกาแฟ เช่นเอธิโอเปีย, กัวเตมาลา และเคนย่า ล้วนเป็นประเทศที่ยากจน และขายกาแฟคุณภาพสูงในราคาที่ไม่ได้แพงอย่างที่มันควรจะเป็น

ในทางกลับกันประเทศไทยนั้นมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP มากกว่าประเทศเหล่านั้น แถมคุณภาพชีวิตของชาวสวนกาแฟยังค่อนข้างดีกว่า ทำให้กาแฟไทยมีเรื่องราคาขั้นต้นที่ค้ำคอไว้ และถึงจะผลิตให้คุณภาพดีแค่ไหน โอกาสที่จะไปแข่งขันด้วยราคากับประเทศชั้นนำก็ค่อนข้างยาก

กาแฟ
ชาวสวนกาแฟในต่างประเทศ // ภาพ pixabay.com

จึงเป็นเหตุผลให้ “ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ตัดสินใจเข้ามายกระดับเรื่องนี้ด้วยการเข้าไปคลุกคลีกับชาวสวนที่ปลูกกาแฟในภาคเหนือ เพื่อให้พวกเขาสามารถพัฒนาตัวเมล็ดกาแฟให้มีคุณภาพสูงขึ้นไปอีกขั้น พร้อมกับใช้ Story ในการทำตลาดเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศได้มากกว่าแค่ความโดดเด่นด้านรสชาติ หรือเรื่องราคา

5 ปีกับความลับในอุตฯ กาแฟไทยที่น้อยคนจะรู้

“ผมเริ่มกลับศึกษาตลาดกาแฟไทยเมื่อ 7 ปีที่แล้ว แต่ถ้าจริงจังก็คงต้อง 5 ปีที่แล้ว ทำให้ผมรู้ว่ากาแฟออแกนิคจริงๆ นั้นไม่มี หรือถ้ามีก็แค่ 5% ของทั้งหมด เพราะถ้าชาวสวนกาแฟทำออแกนิค กำไรของพวกเขาก็ลดลงแน่นอน ผ่านการที่ผู้รับซื้อรายใหญ่เขาไม่ได้อยากซื้อของแพงเท่าตัว ซึ่งสุดท้ายชาวสวนก็ต้องใช้สารเคมีอยู่ดี” ฟูอาดี้ กล่าว

นอกจากนี้ช่วงเวลา 5 ปีของเขายังพบความจริงอีกว่า 90% ของกาแฟที่คนไทยบริโภคอยู่นั้นเป็นกาแฟจากประเทศลาว โดยเฉพาะสินค้ากาแฟของบริษัทใหญ่ทั้งในค้าปลีก และที่เป็นร้านกาแฟสด เนื่องจากในประเทศไทยนั้นมีกำลังผลิตกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าแค่ 10,000 ตัน/ปี แต่ยอดใช้จริงๆ มันอยู่ที่ 50,000 ตัน

“ลาวเป็นอีกประเทศสำคัญที่ไทยต้องมองหากจะแข่งขันในเรื่องกาแฟ เพราะองค์กรใหญ่ๆ สามารถไปต่อรองเรื่องลดภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟจากลาวมาได้ ยิ่งค่าแรงเขาต่ำ และเขาจนกว่าไทย หรือเรียกว่าจนจนไม่มีเงินจะซื้อปุ๋ยอยู่แล้ว ทำให้บางครั้งมันก็เป็นออแกนิคโดยไม่ได้ตั้งใจ แถมถ้าเอาราคามาเทียบจริงๆ ลาวถูกกว่าไทยครึ่งต่อครึ่งก็ว่าได้”

Speciality Coffee กับอนาคตที่น่าจะสดใส

เมื่อการปลูกกาแฟธรรมดามันยากในการแข่งขันกับต่างประเทศ ทำให้ Speciality Coffee หรือกาแฟพิเศษ นั้นกลายเป็นอีกคำตอบในการปลูกกาแฟของชาวสวนในภาคเหนือ แต่การจะได้มานั้นมันก็ไม่ได้ง่าย เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าพิเศษ การปลูก และการแปรรูปมันไม่ใช้แบบปกติแน่ๆ

“ชาวสวนกาแฟบ้านเรามีคุณภาพชีวิตดีกว่าประเทศอื่นๆ ที่ปลูกกาแฟเยอะมาก และพวกเขาค่อนข้างเจ็บใจว่าทำไมต้องไปแจกผ้าห่มบนดอย เนื่องจากแค่พวกเขาทำกาแฟอย่างเดียวก็อยู่ได้สบาย แถมลูกหลานก็ที่จบปริญญาก็กลับมาทำงานบนสวนอีก ซึ่งมันต่างจากประเทศอื่นที่ใครๆ เขาก็ไม่อยากกลับมาทำกัน”

Blue Bottle
ร้านกาแฟ Blue Bottle // ภาพจาก Unsplash

อย่างไรก็ตามถึงกาแฟพิเศษได้ และมีร้านค้าในประเทศรองรับ แต่การปรับปรุงคุณภาพของกาแฟพิเศษเหล่านี้มันยาก เช่นการปลูกกาแฟพันธุ์เกอิชาที่เป็นกาแฟพิเศษมันก็เสี่ยงสูงมาก เพราะไม่รู้ว่ามันจะออกผลหรือไม่ในแต่ละปี ดังนั้นการกระจายการปลูกก็จำเป็น แต่สุดท้ายมันก็มาติดที่ฝรั่งสามารถซื้อกาแฟราคาถูกในคุณภาพเท่ากับไทยได้อยู่ดี

ขาย Story คืออีกทางออกจริงๆ ของกาแฟชาวสวนไทย

“ถ้าให้เล่าว่าผมอยากกลับมาทำกาแฟจริงๆ ได้อย่างไร ก็ต้องบอกว่าตอนเรียนที่ Harvard ผมก็กินกาแฟแถวนั้นเป็นประจำ แต่ได้สังเกตว่าทำไมไม่มีกาแฟของไทยเลย ประกอบกับผมก็อยากค้นหาอุดมการณ์ของตัวเอง อยากเอากาแฟไทยไปอยู่ในที่ที่ในหลวงเกิด ซึ่งผมก็อยากให้มี Story แบบนี้กับผู้ผลิตกาแฟของไทยบ้าง”

กาแฟ
เมล็ดกาแฟ

และเมื่อต้องการ Story มันก็ต้องมีคนติดต่อ ซึ่ง “ฟูอาดี้” ก็ได้ก่อตั้ง Beanspire โรงขัดสีเมล็ดกาแฟในภาคเหนือ เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างชาวสวน และร้านกาแฟทั่วโลก โดยชูดจุดเด่นเรื่องการซื้อกาแฟจากไทยไม่ใช่แค่ได้เมล็ดกาแฟ แต่คือได้สนับสนุนชาวสวนคนรุ่นใหม่ รวมถึงพื้นที่ที่พร้อมจะปลูกกาแฟพันธุ์ดีที่ทุกคนต้องการเสมอ

สุดท้าย “ฟูอาดี้” อยากให้ทุกคนจำไว้ว่า การทำกาแฟถ้าคิดเรื่องผลกำไรเป็นหลักมันยากมาก เพราะกำไรส่วนใหญ่ไปอยู่กับร้านกาแฟ ไม่ใช่ชาวสวน,โรงขัดสี รวมถึงโรงคั่ว แถมจากนี้การแปรรูปของกาแฟจะมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นอีก คล้ายกับเบียร์ และไวน์ที่ไปก่อนแล้ว เนื่องจากมีมาก่อนกาแฟ 200 และ 1,000 ปี ตามลำดับ

สรุป

นี่เป็นเพียงชาวสวนกาแฟที่ปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าเพียงมุมเดียว เพราะจริงๆ แล้วประเทศไทยยังมีชาวสวนที่ปลูกกาแฟโรบัสต้าอยู่ ซึ่งพวกเขานั้นน่าจะทำตัวยากไม่แพ้กัน เพราะมีผู้รับซื้อหลักๆ เพียง 3 รายคือ เนสกาแฟ, เขาช่อง และมอคโคน่า แต่จริงๆ แล้วคุณภาพของโรบัสต้าไทยนั้นอยู่ในระดับโลก ทำให้หากพวกเขาเลือกที่จะสร้าง Story ก็น่าจะเป็นอีกทางออกที่ดีของอุตสาหกรรมกาแฟไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา