ปฏิเสธไม่ได้ว่า “แบตเตอรี่” คือหัวใจของรถยนต์ไฟฟ้า และถ้าจะทำตลาดจริงจัง ค่ายรถยนต์ก็ต้องลงทุนวิจัยพัฒนาเรื่องนี้ด้วยเงินมหาศาล แต่ Toyota กลับมองต่าง และหันไป Joint Venture กับ Panasonic เพื่อพัฒนาเรื่องนี้
ช่วยทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าให้ถึงเป้า
แม้จะเป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ยุคใหม่ แถมยังทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังด้วยเครื่องยนต์แบบ Hybrid ก่อนใครเพื่อน แต่ล่าสุด Toyota ก็ยังมียอดขายตามหลัง Volkswagen ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แถมถ้ามองในแง่รถยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นก็ยังห่างไกลจากคู่แข่งจำนวนมากในประเทศจีน
แต่ด้วย Toyota วางแผนว่าภายในปี 2573 บริษัทจะจำหน่ายรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้ 5.5 ล้านคัน (ปัจจุบัน Toyota มียอดขายทั่วโลกเฉลี่ย 10 ล้านคัน/ปี) นั่นทำให้ Toyota คิดหนัก และต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาตอบโจทย์เป้านี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วผลลัพธ์มันก็ออกมาด้วยการทำกิจการร่วมค่า (Joint Venture) กับ Panasonic
สำหรับ Panasonic นั้นเป็นหนึ่งในผู้นำของตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เพราะมีโรงงานอยู่ทั่วโลก และผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งมอบให้กับค่ายผู้ผลิตรถยนต์ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็น Honda, Tesla และ Toyota เองด้วย ประกอบกับเมื่อปี 2560 Panasonic กับ Toyota ก็เคยเซ็นสัญญาเพื่อร่วมวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่มาแล้ว
ช่วยเหลือทั้ง Toyota และเหล่าพาร์ทเนอร์ยานยนต์
ส่วนการทำ Joint Venture ครั้งนี้จะเกิดขึ้นภายในปี 2563 และยังไม่มีชื่อบริษัทอย่างเป็นทางการ โดย Toyota ถือหุ้น 51% และที่เหลือเป็นของ Panasonic ที่สำคัญทาง Panasonic เองจะย้ายโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในญี่ปุ่น กับจีนเข้ามาอยู่ในบริษัทใหม่ที่จัดตั้งขึ้น แต่จะไม่ร่วมโรงงานที่สหรัฐอเมริกาที่ร่วมมือกับ Tesla
ในทางกลับกัน Toyota ก็จะใช้ประโยชน์จากการตั้งบริษัทใหม่นี้ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตแบตเตอรี่ให้มากขึ้น 50 เท่าตัวจากเดิม เพราะปัจจุบัน Toyota ใช้แบตเตอรี่เพื่อรถยนต์แบบ Hybrid เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีแผนจำหน่ายแบตเตอรี่ที่ผลิตจากโรงงานนี้ให้ Mazda, Daihatsu และ Subaru ด้วย เพราะทั้งหมดเป็นพาร์ทเนอร์กับ Toyota
ประหยัดต้นทุน พร้อมเตะขัดขาคู่แข่ง
อย่างไรก็ตามการทำ Joint Venture ระหว่าง Toyota กับ Panasonic ก็เป็นการบีบให้ Honda ที่ใช้แบตเตอรี่ของ Panasonic ต้องไปหาพาร์ทเนอร์ด้านแบตเตอรี่รายใหม่แทบจะทันที เรียกได้ว่าเป็นการเตะขัดขาคู่แข่งก็ไม่แปลกนัก
สรุป
การร่วมมือกันของ Toyota และ Panasonic เรียกว่า Win-Win ก็ไม่แปลก เพราะทาง Toyota ก็สามารถประหยัดต้นทุนเรื่องแบตเตอรี่ได้แทบจะทันที แถมยังชะลอการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของคู่แข่งได้ด้วย ส่วน Panasonic ก็ได้สิทธิ์ในการเข้าถึงชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆ รวมถึงแบตเตอรี่เก่าเพื่อนำมาใช้ทำตลาดใหม่ได้ด้วย
อ้างอิง // Nikkei
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา