จับตาโอกาสทางธุรกิจเกี่ยวกับ Drone เมื่อคนไทยเริ่มเปิดกว้างอุปกรณ์นี้

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

ปัจจุบันหลายคนเริ่มรู้จัก Drone กันมากขึ้น หลังจากอุปกรณ์ตัวนี้ถูกใช้เพื่อถ่ายภาพมุมสูง และเริ่มเข้าไปอยู่ในแพ็คเกจถ่ายภาพต่างๆ แต่จริงๆ แล้ว Drone มีประโยชน์มากกว่านี้ ลองมาจับตาโอกาสทางธุรกิจของอุปกรณ์ตัวนี้กัน ว่าเราสามารถสร้างรายได้จากอุปกรณ์ตัวนี้ได้อย่างไรบ้าง

1.รับบริหารจัดการเกษตรกรรมผ่านมุมสูง

ปกติแล้วการบริหารจัดการการเกษตรจะทำโดยคน หรือเต็มที่ก็มีกล้องวงจรปิดที่คอยตรวจตาในจุดต่างๆ ทั้งเรื่องการขโมยผลผลิต และการตรวจสอบว่าบริเวณนั้นๆ มีเหตุการณ์ผิดปกติหรือไม่ แต่จะดีกว่าไหมถ้าใช้ Drone เข้ามาช่วยบริหารจัดการเรื่องนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการให้ภาพในมุมสูง และมีความคมชัดมากกว่ากล้องวงจรปิดทั่วไป ทำให้การตรวจสอบเรื่อง

ซึ่งขณะนี้มีองค์กรที่ผลิต Drone สำหรับกลุ่มเกษตรกรรมโดยเฉพาะ คือ senseFLY ที่มาพร้อมกับระบบ Auto – Pilot ผ่านการกำหนดจุด GPS และการรายงานผลเกี่ยวกับผลผลิต เพื่อนำมาประมวลผลโดยซอฟต์แวร์ แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงอาจไม่คุ้มค่ากับกลุ่มกสิกรส่วนใหญ่ในประเทศไทย เพราะพวกเขายังคุ้นเคยกับการใช้คนตรวจสอบมากกว่า ดังนั้นหากนำ Drone มาช่วยเรื่องการเกษตร อาจต้องใช้เวลาเรียนรู้อีกระยะหนึ่ง

2.ใช้ Drone ช่วยขจัดปัญหารถติด

ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ติดอันดับต้นๆ ของโลกในเรื่องรถติด เบื้องต้นอาจเป็นเพราะผังเมืองไม่ดี แต่ก็ต้องมีเรื่องระบบบริหารจัดการจราจรเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง แต่เมื่อทั้งหมดถูกรายงาน และควบคุมด้วยคนเกือบทั้งหมด ทำให้การทำงานอาจไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่ง Drone น่าจะช่วยเข้ามาตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ เพราะปัจจุบัน Drone หลายรุ่นมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจสอบการเคลื่อนไหว ก็น่าจะช่วยให้ข้อมูลกับผู้บริหารจัดการได้บ้าง

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

3.เมื่อมีรูปร่างแปลก ทำไมไม่ลองใช้เพื่อควบคุมสัตว์

การบินอยู่บนอากาศของ Drone ก็เทียบเท่ากับเครื่องบินขนาดเล็กๆ ดังนั้นถ้าจะหาธุรกิจใหม่เกี่ยวกับ Drone การฝึกควบคุมให้ชำนาญ และรับจ้างควบคุมสัตว์ทางเกษตรต่างๆ ได้ นอกจากนี้การเขียนซอฟต์แวร์ เพื่อช่วยให้ Drone ทำงานอัตโนมัติ แต่หากจะเข้ามาทำตลาดในไทย ผู้ที่สนใจธุรกิจนี้ต้องทำให้ Drone มีราคาที่เข้าถึงได้ทุกระดับ และมีการใช้งานที่ง่าย คล้ายกับการใช้ในเกษตรกรรม จะได้ให้ผู้เลี้ยงสัตว์ต่างๆ ใช้ต้อนวัว, ควาย หรือไก่ ได้ง่ายขึ้น

4.Drone ยิ่งเยอะ ก็รับซ่อมได้มากขึ้น

การนำ Drone มาใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม ประกอบกับ Drone ก็เริ่มมีราคาต่ำลง ดังนั้นโอกาสที่อุปกรณ์ตัวนี้จะเสียหายก็มีมากขึ้น และผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็ต้องนำไปซ่อมกับผู้นำเข้าซึ่งอาจมีราคาสูง ดังนั้นก็เป็นอีกโอกาสที่จะทำธุรกิจรับซ่อม Drone แต่เพื่อซ่อม Drone ได้ทุกรุ่น อาจต้องใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เข้ามาช่วย เพราะสามารถสร้างวัสดุต่างๆ ได้ในระยะเวลาอันสั้น และประหยัดค่าใช้จ่าย

แต่ในประเทศไทยอาจลำบากซักนิด เพราะรัฐบาลยังไม่ยอมรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพราะกลัวผู้ใช้จะนำมาสร้างอาวุธ

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

5.รับสร้างซอฟต์แวร์ให้ Drone โดยเฉพาะ

หาก Drone ถูกใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม และเริ่มทำงานได้แบบอัตโนมัติ ดังนั้นซอฟต์แวร์เฮาส์เกี่ยวกับ Drone ก็จะจำเป็นมากขึ้น และตอนนี้ยังไม่มีผู้ใดรับจ้างเรื่องนี้เท่าไรนัก ดังนั้นปี 2560 หากซอฟต์แวร์เฮาส์ในประเทศไทยเร่งหาความรู้ในเรื่องนี้ ก็สามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้เช่นกัน และทำตลาดได้ทั้งรัฐ, เอกชน และบุคคลทั่วไปได้ด้วย ดังนั้นอย่ามองแค่ออกแบบซอฟต์แวร์ให้กับองค์กร เพราะ Drone ก็ต้องการสิ่งที่มาควบคุมมันเหมือนกัน

สรุป

ในต่างประเทศ Drone อาจถูกใช้อย่างกว้างขวาง ทำให้โอกาสการสร้างรายได้เกี่ยวกับอุปกรณ์ตัวนี้ง่ายกว่าประเทศไทย แต่หากซอฟต์แวร์เฮาส์ในประเทศไทย หรือผู้ที่ใช้งาน Drone ได้อย่างเชี่ยวชาญลองนำตัวอย่างทางธุรกิจนี้ไปปรับใช้ เพื่อสร้างโอกาสหารายได้เพิ่ม ก็น่าจะช่วยให้ Drone ถูกใช้งานในประเทศไทยมากกว่าแค่ถ่ายภาพมุมสูง

อ้างอิง // 7 drone-based business ideas for 2017

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา