อาถรรพ์เลข 7 นั้นเกิดขึ้นกับหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความรัก หรือการงาน แต่ที่น่าสนใจคือวง Girl Group ฝั่ง K-Pop ที่ส่วนใหญ่มักจะยุบวงเมื่อครบรอบ 7 ปี แล้วเหตุผลมันคืออะไรล่ะ Brand Inside จะเล่าให้ฟัง
จะ Wonder Girls หรือ Girls’ Generation ก็ไม่พ้น
ปฎิเสธไม่ได้ว่าช่วงปี 2000 (พ.ศ.2543-2552) กระแส K-Pop นั้นโด่งดังไปทั่วโลก พร้อมแจ้งเกิดวง Boy Band และ Girl Group ให้เราๆ รู้จักกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Wonder Girls, Girls’ Generation, Super Junior และ TVXQ แต่สุดท้ายแล้วปัจจุบันก็เหลือฝั่ง Boy Band เท่านั้นที่ยังพอออกผลงานกันเป็นวงอยู่บ้าง
นั่นก็เพราะ K-Pop ฝั่ง Girl Group นั้นเลิกการทำเพลงด้วยกันไปเกือบทั้งหมด ทั้ง 2NE1, 4Minute และ Sistar ที่เลิกไปหลังผ่านช่วงเวลา 7 ปีมาไม่นาน และถ้าเอาแบบ 7 ปีเป๊ะๆ ก็ต้อง Wonder Girls กับ Girls’ Generation ที่มีสมาชิกบางคนประกาศลาออกจากวง
และล่าสุดวง Girl’s Day ที่แม้จะผ่านพ้นอาถรรพ์เลข 7 ไปได้ ผ่านการรวมวงกันนานถึง 9 ปี แต่สุดท้ายแล้วสมาชิกคนหนึ่งของวงที่ชื่อว่า Park So-jin ได้ประกาศลาออกจากวง ยิ่งเมื่อนับรวมวง Girl Group เกาหลีที่เลิกวงไปก็จะพบว่า อายุของแต่ละวงจะอยู่ระหว่าง 5-7 ปีเท่านั้น
ยิ่งใหม่ ยิ่งสด ยิ่งโด่งดังได้มากกว่ารุ่นเก่า
สำหรับเหตุผลที่ทำให้วง Girl Group เกาหลีนั้นเลิกวงในระยะเวลาดังกล่าว ก็เพราะ “The Younger The Better” หรือยิ่งอายุน้อย ก็ยิ่งดี โดยถ้ามองช่วงเวลาที่วงดังๆ เปิดตัวนั้น อายุเฉลี่ยของสมาชิกก็อยู่ต่ำกว่า 20 ปีทั้งนั้น บางวงน้อยถึง 14 ปีก็มี ทำให้การเร่งปั้นวงใหม่ขึ้นมามันก็จำเป็นมากขึ้น
Lee Taek-gwang ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารของมหาวิทยาลัย Kyung Hee เล่าให้ฟังว่า พวกเธอโด่งดังเนื่องจากความเด็ก, น่ารัก และดูไร้เดียงสา แต่เมื่อพวกเธอโตขึ้น ภาพลักษณ์ดังกล่าวมันก็ยากที่จะรักษาไว้ จึงไม่แปลกที่มันจะมี Girl Group วงใหม่ขึ้นมาแทนที่
อย่างไรก็ตามตัวอายุของวง Boy Band ก็อยู่ที่ต่ำกว่า 20 ปีเช่นกัน บางวงมีสมาชิกที่อายุเพียงสิบขวบนิดๆ เท่านั้น แต่ด้วย Boy Band ของ K-Pop นั้นเน้นเรื่องความแข็งแรง และไม่ได้น่ารักอะไรขนาดนั้น ทำให้เรื่องอายุที่โตขึ้นไม่ได้กระทบต่อภาพลักษณ์ของวงเยอะเทียบเท่ากับ Girl Group
หาลู่ทางเติบโตไปอีกขั้นคือความหวังใหม่
ขณะเดียวกันถึงวง Girl Group จะมีแฟนเพลงจำนวนมาก และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ต้องยอมรับว่ายังค่อนข้างห่างไกลกับวง Boy Band ด้วยเหตุว่าแฟนเพลง K-Pop ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ก็ไม่แปลกที่วงผู้ชายจะได้เปรียบกว่า สังเกตจากถึงวง Boy Band ต้องติดภารกิจทางทหาร แต่ฐานแฟนเพลงก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ค่ายเพลงที่ต้องการปั้นวง Girl Group จึงต้องเซ็นสัญญาศิลปินที่มีความสามารถหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นร้องเพลง, เขียนเพลง, เต้น หรือการแสดง เพราะพวกเขาสามารถต่อยอดในอาชีพศิลปินไปได้มากกว่าแค่เป็นวง Girl Group และทางค่ายก็สร้างรายได้จากศิลปินคนนั้นได้ยั่งยืนกว่าเดิมด้วย
เช่นกรณีของ Hyeri กับ Suzy ของวง Girl’s Day และ Miss A ตามลำดับก็ไปเดินหน้าผลงานการแสดงเต็มตัว ส่วน Sunmi อดีตสมาชิกวง Wonder Girls ก็ไปเป็นศิลปินเดี่ยวเต็มตัว ดังนั้นเมื่อความเด็ก และไร้เดียงสาคือจุดขายของ Girl Group ก็ไม่แปลกที่เมื่อเติบโตขึ้น พวกเธอก็ต้องหาลู่ทางใหม่ๆ เพื่อให้อาชีพในสายบันเทิงนั่นยั่งยืน
สรุป
7 ปีถือเป็นเวลาที่นาน และถ้าอยู่ในแบบเดิมๆ ไม่ได้ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเปลี่ยน เช่นเดียวกับ Girl Group ที่ต้องดูสดใหม่ และน่ารักตลอดเวลา เลย 7 ปีไปแล้วจะให้มาน่ารักต่อก็คงไม่ใช่เรื่อง ดังนั้นน่าจะถูกต้องแล้วที่ทางค่ายเพลงเลือกเดินกลยุทธ์นี้ เพื่อทำให้ตัวศิลปิน และทางค่ายเติบโตไปด้วยกันในอนาคต
อ้างอิง // Korea Herald
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา