เวียดนามเคยคิดจะทำรถไฟความเร็วสูงหลายครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะรัฐสภามีมติให้คว่ำไป แต่เวียดนามเองก็ไม่ได้ละทิ้งความคิดที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากได้ศึกษาความเป็นไปได้มาตลอด
เชื่อมเหนือ-ใต้ภายใน 5 ชั่วโมงครึ่ง จากเดิม 30 ชั่วโมง
หลังพับโครงการรถไฟความเร็วสูงไปหลายครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ล่าสุดเวียดนามเตรียมรื้อแผนสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้อีกครั้ง โดยมูลค่าที่มีการประเมินอยู่ที่ 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.8 ล้านล้านบาท)
รถไฟความเร็วสูงที่เวียดนามสร้างจะมีความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะเชื่อมต่อจากภาคเหนือของเวียดนามคือ “เมืองหลวง-ฮานอย” ไปจนถึงศูนย์การค้าที่สำคัญในภาคใต้อย่าง “โฮจิมินห์” และจะใช้เวลาเดินทางเพียง 5 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น (จากรถไฟแบบเดิม 30 ชั่วโมง) ส่วนราคามีการประเมินว่าอยู่ที่ 50 – 90 ดอลลาร์ (1,600 – 2,800 บาท) ราคานี้ถูกกว่าเดินทางด้วยเครื่องบินกว่าครึ่งหนึ่ง
แผนการสร้างรถไฟความเร็วสูงที่มีระยะทางกว่า 1,560 กิโลเมตร จะแบ่งออกเป็น 2 เฟสใหญ่ดังนี้
- ปี 2030 จะเปิดให้บริการเส้นทางฮานอย-วีง (Hanoi – Vinh) ระยะทาง 280 กิโลเมตร และญาจาง-โฮจิมินห์ (Nha Trang – Ho Chi Minh) ระยะทาง 360 กิโลเมตร
- ปี 2045 โครงการที่เหลือจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด โดยเงินส่วนใหญ่ที่ใช้ในเฟสนี้จะมาจากค่าบริการในเฟสแรกที่ได้เปิดให้บริการไปก่อนหน้าแล้ว
แผนใหม่ที่เสนอไปนี้จัดทำโดยกระทรวงคมนาคมของเวียดนาม โดยจากการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งหมดแล้วจะทำการยื่นต่อรัฐสภาเพื่อให้มีการอนุมัติรับรองในขั้นสุดท้ายช่วงเดือนตุลาคมปี 2019 และหากผ่านการอนุมัติ ขั้นตอนต่อไปจะสามารถเริ่มต้นการก่อสร้างได้
ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นยังคงให้ความร่วมมือในการศึกษาเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน โดยคาดหวังว่าจะขายรถไฟชินคันเซ็นให้กับเวียดนาม แต่ยังไม่ได้มีการตกลงเป็นทางการแต่อย่างใด
ถึงที่สุดแล้ว อุปสรรคของเวียดนามในเรื่องนี้คืองบประมาณในการก่อสร้างที่ทางภาครัฐจะดูแลค่าใช้จ่าย 80% ส่วนอีก 20% เป็นของเอกชนกำลังสร้างปัญหา เพราะเวียดนามกำหนดหนี้ภาครัฐไว้ที่ 65% ของ GDP อย่างไรก็ตามรัฐบาลเวียดนามคงต้องถกเถียงเรื่องนี้อย่างจริงจังในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของรถไฟความเร็วสูงที่เวียดนามจะสร้างในครั้งนี้ คือสัญลักษณ์ทางการเมือง เพราะนอกจากรถไฟความเร็วสูงจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไปอีกขั้นหนึ่ง แต่มันก็หมายถึงการเชื่อมต่อความเป็นปึกแผ่นทางการเมืองของเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ให้เข้ากันอีกด้วย
ที่มา – Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา