มองโอกาสในอุตสาหกรรม E-Sport ที่ถึงคุณจะเล่นเกมไม่เก่ง แต่ก็มีส่วนร่วมในตลาดหมื่นล้านได้

อ้างอิงข้อมูลบริษัทวิจัย Newzoo จะพบว่า มูลค่าตลาดเกมในไทยปี 2560 อยู่ที่ 597 ล้านเหรียญ (ราว 18,000 ล้านบาท) ยิ่ง E-Sport บูมก็ไม่แปลกที่ตัวเลขนี้จะโต แต่ถ้าอยากมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมนี้ต้องทำอย่างไรล่ะ?

E-Sport
การแข่งขัน E-Sport รายการ Overwatch Worldcup

ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาก็สร้างเงินได้

กระแส E-Sport นั้นบูมในประเทศไทย และทั่วโลกอย่างมาก สังเกตจากสื่อต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญกับเหล่านักกีฬาเหล่านี้ ประกอบกับบริษัทเอกชนนอกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็เข้ามาสนับสนุนการแข่งขันเช่นเดียวกันจนเงินรางวัลรวมของรายการ E-Sport ใหญ่ทั้งปี 2560 ก็อยู่ที่ 121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,800 ล้านบาท)

จึงไม่แปลกที่เด็กรุ่นใหม่ หรือคนที่ชื่นชอบเล่นเกมนั้นจะอยากเป็นนักกีฬา E-Sport เพื่อหวังได้เงินรางวัลมูลค่าดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำสิ่งที่ชอบ พร้อมกับสร้างเงินมหาศาลไปพร้อมๆ กัน แต่จริงๆ แล้วการหารายได้จาก E-Sport นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาเพียงอย่างเดียวก็ได้

สมาคม E-Sport
สันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย

สันติ โหลทอง นายสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า การเป็นนักกีฬา E-Sport นั้นไม่ง่ายเลย เนื่องจากการฝึกซ้อมก็ไม่ต่างกับนักกีฬาอื่นๆ รวมถึงการเล่นเกมเพื่อแข่งขัน กับเล่นเกมเพื่อความสนุกนั้นแตกต่างกันสิ้นเชิง ดังนั้นหากต้องการหารายได้จาก E-Sport จริงๆ ก็มีช่องทางอื่นๆ มากมาย ไม่ใช่มาจากการเป็นแค่นักกีฬา

Caster และ Organizer การแข่งขันคือโอกาส

“ตอนนี้เรามีนักกีฬา E-Sport ทีมชาติไทยที่ได้รับการรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทยแค่ 20 คน ซึ่งมันก็คล้ายกับกีฬาฟุตบอลที่มีนักกีฬาทีมชาติแค่ 20 กว่าคน แสดงให้เห็นว่าการก้าวมาถึงจุดนี้มันไม่ง่าย เพราะในประเทศไทยมีคนเล่นเกมหลายล้านคน แต่ถ้าใครอยากติดทีมชาติก็แนะนำให้ลงแข่งรายการธรรมดาก่อนว่าผลมันออกมาอย่างไร”

E-Sport
ALPHA Red DOTA ทีมนักกีฬา E-Sport เกม DOTA2 ที่สามารถคว้าแชมป์ eSport ภายในประเทศมากมายและเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันในนามทีมชาติไทย

เมื่อโอกาสติดทีมชาตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หลายคนก็ยังอยากหาเงินจากการเล่นเกม ดังนั้นการไปทำอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการแข่งขัน E-Sport ก็น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า โดยเฉพาะกับการเป็น Organizer จัดการแข่งขันเกม รวมถึงเป็น Caster หรือนักพากย์การแข่งขัน E-Sport ที่ต่างก็หาเงินจากการแข่งขัน E-Sport ได้เช่นกัน

“ทุกเกมแข่ง E-Sport ไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองควรรู้ แต่ถ้าบุตรหลานอยากเป็นนักกีฬา E-Sport จริงๆ ก็อยากให้พาไปลงแข่งเลย เพราะถ้าเขาแพ้หรือชนะ อย่างน้อยเราก็รู้ว่ามันคุ้มกับการลงทุนให้เขาไปต่อหรือไม่ เพราะถ้าเป็นนักกีฬาไม่ไหวจริงๆ มันก็มีอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเกมรองรับบุตรหลานของคุณอยู่”

Thailand E-Sports Arena
จิรยศ เทพพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโฟเฟด จำกัด

ส่งเสริมนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยให้อยู่ได้

ในทางกลับกัน จิรยศ เทพพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท อินโฟเฟด จำกัด ก็เตรียมจัดเวทีเพื่อสนับสนุนนักกีฬา E-Sport ระดับมหาวิทยาลัยในชื่อ University E-Sports Championship (UEC) โดยเป็นการแข่งขันเกม RoV, PUBG Mobile และ Overwatch

“เราจัดรายการนี้มาเพื่อให้เด็กมหาวิทยาลัยรู้ว่ามันมีโอกาสอะไรบ้างในโลก E-Sport แต่ทั้งหมดนี้ก็เริ่มจากนักกีฬาก่อน ที่สำคัญเราร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อช่วยเหลือให้เด็กที่มาแข่งในรายการนี้สามารถต่อยอดในด้านอาชีพกับบริษัทเอกชนต่างๆ ได้เช่นกัน”

Thailand E-Sports Arena
ภายในสนาม Thailand E-Sports Arena

สำหรับ “อินโฟเฟด” นั้นปัจจุบันทำธุรกิจเกี่ยวกับ E-Sport โดยเน้นที่การจัดการแข่งขันผ่านสนามการแข่งขัน Thailand E-Sports Arena ที่บริษัทเป็นเจ้าของ และเตรียมขยายธุรกิจไปกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเมียนมา, กัมพูชา, ลาว และเวียดนาม ผ่านการจัดลีกการแข่งขัน E-Sport เพื่อให้รายได้บริษัทเติบโต 200% ในปีนี้ด้วย

สรุป

E-Sport เป็นอุตสาหกรรมที่ใครๆ ก็อยากมีส่วนร่วม เพราะมีกระแสการเติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นการแข่งขันในสิ่งที่หลายๆ คนคุ้นเคยอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าไปติดภาพว่า E-Sport คือเด็กติดเกม เพราะมันคือเกมกีฬาที่พร้อมจะเติบโตได้ทุกเมื่อ หากมีนายทุน, ผู้ชม และผู้สนับสนุนที่พร้อมทุกทาง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา