ระยะนี้หลายคนออกจากบ้านก็เจอหมอก … แต่ไม่ใช่หมอกจากอากาศดีที่เราหวัง เพราะมันคือมลพิษที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ที่กำลังเป็นข่าว
ฝุ่นพิษ PM 2.5 เกิดจากอะไร ?
วิษณุ อรรถานิช รองศาสตราจารย์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยทำงานวิจัยที่ว่าฝุ่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยอย่างไร และส่งผลกระทบเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าใดบ้าง เล่าให้ฟังว่า ฝุ่น PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองที่ขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
ฝุ่น PM 2.5 เกิดจาก 1.การเผาไหม้เครื่องจักร เครื่องยนต์ ทั้งรถยนต์ใหม่และเก่า สังเกตได้ว่าฝุ่นจะเพิ่มขึ้นสูงสุดหลัง 1 ทุ่มที่คนเริ่มขับรถกลับบ้านไปจนถึงช่วง 11 โมงเช้า 2. ฤดูกาลหนาวหรืออากาศที่เย็นและแห้งส่งผลให้ฝุ่นไม่ลอยขึ้นที่สูง สังเกตได้ว่าตอนเช้า หรืออากาศเย็นๆ ฝุ่นจะเยอะกว่าปกติ โดยฝุ่นจะเยอะในช่วงเดือนธ.ค.-ก.พ. นอกจากนี้ถ้าอากาศตายหรือลมไม่พัด เช่น กรุงเทพฯ ที่มีสิ่งก่อสร้าง ตึกสูงเยอะ ยิ่งไม่มีลมฝุ่นเลยไม่พัดไปไหน
จากข้อมูลขององค์กรอนามัยโลก (WHO) บอกว่า ถ้าค่าเฉลี่ยทั้งปีมีฝุ่น PM 2.5 เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าอันตรายแล้ว ขณะที่ของประเทศไทยมองต่างออกไป โดยกำหนดไว้ว่า ถ้าค่าเฉลี่ยทั้งปีมีฝุ่น 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถึงจะเป็นอันตรายกับชีวิตคน
ทำไมฝุ่น PM 2.5 กระทบสุขภาพคนไทย ตีมูลค่าเป็นหลักหมื่นล้านบาท
จากงานวิจัยที่ผมเคยทำเมื่อ 2 ปีก่อนเกี่ยวกับผลกระทบของฝุ่น PM10 น่าจะปรับใช้กับความเสียหายต่อสุขภาพคนไทยได้ คือ เมื่อฝุ่น PM10 เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย ทุกๆ 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจะสร้างความเสียหายให้คนกรุงเทพ 18,420 ล้านบาท
ดังนั้นฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ยิ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยได้มากกว่า แต่ปัจจุบันข้อมูลฝุ่น PM2.5 ยังมีน้อยมาก โดยเฉพาะของไทยเริ่มเก็บข้อมูลไม่เกิน 2 ปี (ที่สามารถทำวิจัยฝุ่น PM10 ได้เพราะไทยจัดเก็บข้อมูลมานานกว่า 10 ปี)
“ความเสียหายที่เกิดกับคนไทย มีหลายอย่างทั้งเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล และสิ่งแวดล้อมรอบตัว”
“ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” รัฐฯ ต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5 อย่างไร?
มาตรการระยะสั้นที่ภาครับควรทำ อย่างแรกคือ การสร้างความตระหนักรู้ ทั้งรัฐบาล ประชาชน ภาคเอกชน ผู้บริหาร ต้องรู้ว่าฝุ่น PM2.5 อันตรายกับชีวิต และสุขภาพของคนมาก อย่างทุกวันนี้คนยังไม่ใส่หน้ากาก เพราะยังไม่เห็นอันตรายมาก
ด้านภาครัฐ ควรออกมาตรการตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ให้เข้มงวดขึ้น รถที่มีควันดำต้องไม่ปล่อยให้ขับบนถนน สถานที่ก่อสร้างต่างๆ ต้องมีการปกคลุม การบำบัดเพื่อไม่ให้เกิดมลพิษ
“ทุกวันนี้มาตรการต่างๆ ของภาครัฐถือว่าดีแล้ว แต่ต้องเข้มงวด และบังคับใช้จริงๆ อย่างกฎที่ห้ามสถานที่ก่อสร้างในกรุงเทพทำงานหลัง 6 โมงเย็น สังเกตได้ว่าหลายที่ก็ยังเปิดให้ทำงานต่อ”
ด้านมาตรการระยะยาว รัฐต้องยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์ขึ้นอีก (ก่อนหน้านี้ขยับขึ้นจากยูโร 2 เป็น ยูโร 4 แล้วแต่ยังไม่พอกับสถานการณ์ฝุ่นพิษในปัจจุบัน) แต่เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมากเพราะจะกลาบเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น รัฐต้องออกมาตรการเยียวยาเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนา
“ถ้าประชาชนจะได้ประโยชน์จากฝุ่นพิษน้อยลง คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น รัฐบาลจะเสียเงินน้อยลงด้านอื่นและ เอาเงินส่วนนั้นมาจ่ายให้กับคนที่เสียประโยชน์อย่างผู้ประกอบการ ซึ่งก็อาจจะเป็นผลดีกับภาพรวม”
ฉีดน้ำก็ไม่ได้ทำให้ฝุ่น PM2.5 ลดลง เราจะป้องกันตัวอย่างไร?
- หาเครื่องป้องกัน ใช้มาสก์ปิดจมูกที่สามารถกันฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ได้ ซื้อใช้แล้วก็ต้องเปลี่ยนอันใหม่ตามอายุการใช้งาน
2. ใช้แอพพลิเคชั่นที่ตรวจค่ามลพิษ ฝุ่นพิษต่างๆ เช่น AQI กรมควบคุมมลพิษ ฯลฯ
จากที่หลายคนถามว่าการฉีดน้ำจะช่วยลดฝุ่นได้ไหม วิษณุ ตอบว่า ฉีดน้ำช่วยลดฝุ่นคลุ้งได้ แต่สำหรับฝุ่น PM2.5 รดน้ำก็ช่วยไม่ได้ จากข่าวที่ว่าจะทำฝนหลวงอาจจะช่วยได้เล็กน้อย แต่ฤดูหนาวก้อนเมฆน้อยก็ทำฝนหลวงได้ยาก
สรุป
ปัญหาของกรุงเทพฯ ฝุ่นพิษปัจจัยหลักมาจาก จำนวนรถที่เกินพื้นที่บนท้องถนน ทั้งปัญหารถติด และอีกสารพัด ถ้ารัฐบาลจะแก้ไขต้องเริ่มที่การเข้มงวดมาตรการต่างๆ เช่น ตรวจสอบรถที่ปล่อยควันดำ ฯลฯ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา