สิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกของปี 2019 ซึ่งในไตรมาสแรกนี้สงครามการค้ายังคงกดดันเศรษฐกิจโลกอยู่
เข้าสู่ปี 2019 เศรษฐกิจโลกยังโดนประเด็นสำคัญอย่างสงครามการค้ากดดันต่อจากปี 2018 แน่นอนว่าผลกระทบนี้ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยต่อ โดย SCB EIC ได้ปรับประมาณการณ์การเติบโตของ GDP ไทยลงมาเหลือเพียงแค่ 3.8% และยังได้ปรับเป้าการส่งออกของไทยลดลงด้วย
Brand Inside สรุปประเด็นสำคัญๆ ของภาคเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ควรจจับตามองในไตรมาส 1 นี้
สงครามการค้ากระทบไปทุกภาคส่วน
ยรรยง ไทยเจริญ ผู้บริหารสูงสุด SCB EIC ได้กล่าวย้อนไปเล็กน้อยถึงภาพรวมและมุมมองว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว และเริ่มชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วเริ่มชะลอตัวลง ส่วนตลาดเกิดใหม่ หรือ EM ทรงๆ ตัว ยกเว้นเศรษฐกิจในทวีปแอฟริกาที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ Commodities มีราคาดี โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะถดถอยในปี้นี้น้อยมากโดยอยู่ประมาณ 20%
อย่างไรก็ดีสงครามการค้าทำให้เกิดผลกระทบใน 3 ช่องทางสำคัญ
- การค้าโลกชะลอตัวลง
- ความเชื่อมั่นถูกบั่นทอนลง
- ภาวะการเงินตึงตัวขึ้น
ผลกระทบดังกล่าวทำให้ต้องมีการปรับตัวเลขทางเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการเติบโต GDP ของจีนอาจเหลือแค่ 6.2% เท่านั้น และได้รับผลจากสงครามการค้ามากกว่าที่คิด ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ถดถอย นอกจากนี้ยังได้ปรับประมาณการณ์ GDP ของไทยในปีนี้จะเติบโตแค่ 3.8% ด้วย
เศรษฐกิจไทยเลยจุดสูงสุดไปแล้ว
มาดูทางด้านเศรษฐกิจไทยบ้าง โดยการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ตามการส่งออกในเอเชียที่ชะลอตัวลง ไทยได้รับผลกระทบเนื่องจากไทยอยู่ใน Supply Chain ส่งไปจีนด้วย ทำให้ SCB EIC ปรับลดเป้าการส่งออกเติบโตเหลือ 3.4%
การท่องเที่ยวของไทยพึ่งนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก โดยเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของการเจริญเติบโต แต่นักท่องเที่ยวจีนค่อนข้างกลับมาไว แต่ครั้งนี้ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวของไทยเท่าไหร่โดยเฉพาะทัวร์จีน แต่นักท่องเที่ยวแบบที่เดินทางเข้ามาลำพังหรือ F.I.T เริ่มเติบโตมานิดหน่อย แต่ยังติดลบอย่างต่อเนื่อง
ความโชคดีของไทยคือได้นักท่องเที่ยวในอาเซียน กับอินเดียที่มาช่วยไว้ แต่ค่าใช้จ่ายตัอหัวก็ยังน้อยกว่านักท่องเที่ยวจีนอยู่ดี SCB EIC เชื่อว่านักท่องเที่ยวจีนน่าจะกลับมาในไตรมาส 2 นอกจากนี้คาดว่านักท่องเที่ยวรวมของไทยจะอยู่ประมาณ 40 ล้านคน
SCB EIC มองความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยปีนี้
- ภาคการส่งออกที่ชะลอลง
- SME ที่สถานการณ์ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก
- การลงทุนในภาคอสังหา หลังมาตรการบังคับใช้
- ความไม่แน่นอนทางการเมือง
ภาคการบริโภคของไทยยังดูทรงๆ
การบริโภคภายในประเทศ จะไปเติบโตกับสินค้าประเทศรถยนต์มากกว่า ซึ่งทำให้เกิดการก่อหนี้ นอกจากนี้สถาบันการเงินต่างๆ ก็ยังได้ออกโปรโมชั่นออกมาด้วย ทำให้หนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ปรับขึ้นเล็กน้อย ส่วนค่าจ้างที่แท้จริงปรับตัวได้น้อยมากแต่ต้องจับตามองนโยบายค่าแรงขั้นต่ำหลังเลือกตั้ง นอกจากนี้ ชั่วโมงทำงานเฉลี่ยอาจลดลงตามค่าแรงที่สูงขึ้นและเทคโนโลยีในการผลิตที่เข้ามาด้วย
ภาคเกษตรปีที่แล้วได้ผลผลิตดี แต่ราคาสินค้าเกษตรไม่ดีเอาเสียเลย ทำให้ 11 เดือนแรกรายได้ของเกษตรกรทรงตัวด้วยซ้ำ คาดว่าในปีนี้จะทรงตัวหรือเพิ่มได้เล็กน้อย สิ่งที่ต้องจับตามองคือข้าวไทยยังมีความต้องการที่สูง แต่ต้องระวังภาวะ El Nino เริ่มมีผลกระทบในปีนี้ อาจทำให้เกิดภัยแล้งได้
ภาคการลงทุนของไทยยังดีขึ้น
SCB EIC มองว่าการลงทุนภาคเอกชนยังขับเคลือนเศรษฐกิจไทยได้ แม้ว่า เม็ดเงินลงทุน หรือ FDI ไทยยังอาจลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่อาจได้ผลประโยชน์บ้างจากการย้ายฐานการผลิตถ้าหากสงครามการค้ารุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้การลงทุนภาครัฐยังเติบโตประมาณ 9%
การลงทุนที่อาจไปได้ดีในปีนี้ที่ SCB EIC มองไว้คือ การก่อสร้างโรงแรม เนื่องจากอัตราเข้าห้องพักยังสูง เรื่องของ E-commerce ยังเติบโต Logistics ยังโต การปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล เช่น ค้าปลีก
นอกจากนี้ EEC ซึ่งเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย ยังได้รับความสนใจจากเอกชน โดยเฉพาะ อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ร้านอาหาร สอดคล้องกับการจดทะเบียนนิติบุคคลไทยยังเพิ่มขึ้น เช่น โรงแรม ร้านอาหาร รวมไปถึงภาคการขนส่ง
เรื่องของสภาวะการเงิน
SCB EIC มองว่าสภาวะการเงินตึงตัวขึ้น จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย และปีนี้เป็นปีแรกของงบดุลธนาคารกลางต่างๆ ทยอยลดลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางยุโรป ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นก็เริ่มทยอยลดการซื้อสินทรัพย์ลงแล้ว สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกานั้นมองว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้แค่ 2 ครั้ง
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หนี้ของบริษัทเอกชนในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะพวก High Bond Yield แต่ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนสหรัฐปรับลดตัวลง ซึ่งหนี้บริษัทเอกชนที่สูงขึ้นอาจทำให้เกิดสภาวะชะลอลงของเศรษฐกิจ
ส่วนเรื่องของการไหลเข้าออกของเม็ดเงินในที่ต่างๆ SCB EIC มองว่าเม็ดเงินจะไหลเข้า EM น้อยกว่าในอดีตที่มีนโยบายผ่อนคลายทางการเงินหรือ QE อย่างไรก็ดีก็อยู่กับปัจจัยพื้นฐานของแต่ละประเทศด้วย เนื่องจาก EM มีการขยายตัวที่ดีกว่า แต่ในระยะสั้นอาจมีความผันผวนได้
สำหรับภาคการเงินของไทย สภาพแวดล้อมทางการเงินยังเอื้อต่อการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทย แต่อยู่ในระดับน้อยลง ซึ่งยรรยงยอมรับว่าภาคการเงินของไทยโตกว่าภาคเศรษฐกิจจริงๆ และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีกแค่ 1 รอบ
อย่างไรก็ดีเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อของไทย จากผลสำรวจธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการสอบถามธนาคาร ผลคือ เข้มงวดมากขึ้น แม้ว่าสภาพคล่องในระบบจะยังสูงก็ตาม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา