ถ้าพูดถึง Sunsweet หลายคนอาจนึกถึงแบรนด์ลูกพรุนจากสหรัฐอเมริกา แต่รู้หรือไม่ว่าในไทยก็มีชื่อ Sunsweet เหมือนกัน แถมเป็นยักษ์ใหญ่เรื่องส่งออกข้าวโพดหวานด้วย ดังนั้นลองมาทำความรู้จักกับบริษัทนี้กันดีกว่า
ยักษ์ส่งออกข้าวโพดหวานของประเทศไทย
ปัจจุบันตลาดข้าวโพดหวานในระดับโลกนั้นค่อยๆ เติบโต โดยในปี 2560 มีมูลค่าอยู่ราว 44,000 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยนั้นถือเป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องนี้ ผ่านสัดส่วน 16% หรือมูลค่า 7,472 ล้านบาท และมีผู้เล่นในตลาดนี้ที่เป็นรายใหญ่อยู่ 3 ราย โดยบมจ.ซันสวีท หรือ Sunsweet (SUN) ก็คือหนึ่งในนั้น
สำหรับตัว Sunsweet ก่อตั้งเมื่อปี 2540 และสองปีถัดมาก็เปิดตัวแบรนด์ KC เพื่อใช้ในการทำตลาด พร้อมกับจดทะเบียนบริษัท Sunsweet International เพื่อดูแลธุรกิจส่งออกด้วย ที่สำคัญในช่วงปี 2555 ก็เริ่มมีการทำตลาดข้าวโพดหวานแช่แข็ง และข้าวโพดหวานบรรจุห่อพร้อมรับประทาน จากเดิมที่ขายแต่ข้าวโพดหวานแกะบรรจุกระป๋อง
ส่วนที่บอกว่าเป็นหนึ่งในผู้นำในตลาดข้าวโพดหวานก็เพราะมียอดขาย 1,520 ล้านบาทในปี 2560 และสิ้นปี 2561 ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจำนวนดังกล่าวนั้นคิดเป็น 3% ของตลาดโลก ซึ่งก็ถือว่าใหญ่พอควร แต่ด้วยยอดขาย 70% ของบริษัทนั้นมาจากแบบบรรจุกระป๋อง ทำให้ต้องกระจายความเสี่ยงไปยังสินค้าแบบอื่นๆ มากขึ้น
รุกสินค้าข้าวโพดแช่แข็งเพื่อรับตลาดใหม่ๆ
นั่นจึงเป็นที่มาของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อสิ้นปี 2560 และเงินทุนที่ได้ก็นำมาขยายธุรกิจข้าวโพดแช่แข็ง โดยจากเดิมที่มีกำลังการผลิต 16,000 ตัน/ปี เป็น 60,000 ตัน ซึ่งตอนนี้ได้เสร็จสิ้น และอยู่ระหว่างทดลองผลิตก่อนช่วงต้นปี 2562 จะเริ่มผลิตจริง นอกจากนี้ตัวกำลังผลิตเดิมนั้นใกล้เต็มความจุแล้วด้วย
“แม้สหรัฐอเมริกาจะสามารถผลิตข้าวโพดหวานได้มากที่สุด แต่เขาบริโภคในประเทศเยอะ ทำให้ส่งออกไม่มาก มันก็เป็นอีกโอกาสที่ไทย และประเทศอื่นๆ จะสร้างโอกาสทางธุรกิจนี้ จึงไม่แปลกที่เราต้องออกงานแสดงสินค้าทั่วโลกเป็นประจำ เพื่อทำให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จัก” องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซันสวีท กล่าว
ทั้งนี้ประเทศที่ Sunsweet เข้าไปทำตลาดนั้นอยู่ในเอเชีย 70% ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น, ไต้หวัน และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทยเช่นกัน รองลงมาเป็นตลาดยุโรป 10% และที่เหลือคือตะวันออกกลาง และอื่นๆ ซึ่งในปี 2562 จะเข้าไปทำตลาดในอินโดนีเซีย และอินเดียที่มีประชากรค่อนข้างมาก และมีความต้องการข้าวโพดหวานสูง
Brexit คือโอกาส แต่ต้องลงทุนเทคฯ เพิ่ม
อย่างไรก็ตามเมื่อบริษัทนั้นมีรายได้หลักจากการส่งออก แต่ด้วยตอนนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ถึงจะจำหน่ายจนมีรายได้มากกว่าเดิม แต่ผลกำไรกลับลดลงเล็กน้อย ซึ่งตัว Sunsweet เองก็เตรียมเครื่องมือมาแก้ไขปัญหานี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาทางการเงิน รวมถึงการหาประเทศใหม่ๆ เพื่อบุกตลาดให้มากกว่าเดิม
ขณะเดียวกันสหราชอาณาจักรนั้นก็เป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าข้าวโพดหวานมากที่สุดในโลก และเมื่อเกิดเหตุการณ์ Brexit ขึ้นมาก็น่าจะเป็นผลดีกับบริษัท เนื่องจากประเทศไทยนั้นถูกกลุ่ม EU กีดกันทางการค้าด้วยนโยบาย Environment and Urban Affairs Division (EUAD) แต่ถ้าสหราชอาณาจักรไม่อยู่แล้วทุกอย่างอาจเปลี่ยนไป
“เชื่อว่าถึงตัวบริษัทเองจะไม่ถูกเรียกตรวจในเรื่องนี้ แต่หลังจากไทยถูกกีดกัน เราก็ขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ แล้ว แต่พอใกล้จะเกิด Brexit แล้ว ก็น่าจะส่งผลดีกับเรามากกว่า เพราะ Sunsweet สามารถเข้าถึงอังกฤษได้ดีกว่าเดิม และเราลงทุนเรื่อง Smart Farming ให้กับเกษตรกรจนผลิตข้าวโพดหวานได้ตลอดทั้งปีเพื่อรองรับเรื่องนี้เช่นกัน”
สรุป
อ่านจบแล้วก็คงรู้ว่า Sunsweet ไม่ได้มีแต่แบรนด์ลูกพรุน แต่คือหนึ่งในผู้นำตลาดส่งออกข้าวโพดหวานของไทย และยิ่งอ่านเกมกลยุทธ์ของบริษัทนี้ก็ยิ่งเห็นโอกาส เพราะทิศทางการบริโภคของคนรุ่นใหม่นั้นเน้นแบบพร้อมรับประทาน ดังนั้นการออกผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานพร้อมทานก็น่าจะช่วยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา