เมื่อโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี! ผู้ว่าแบงก์ชาติเล่าสาเหตุการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย [มีคลิป]

หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.75% ก็มีบทความ บทวิเคราะห์เรื่องผลกระทบมากมาย ลองมาฟังผู้ว่าการธปท. เล่าสาเหตุการขึ้นดอกเบี้ยเลยดีกว่า

ทำไมแบงก์ต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า อัตราดอกเบี้ยเป็นราคาของเงินออมกับเงินกู้ ถ้าอัตราดอกเบี้ยมันถูกมาก จะเป็นแรงจูงใจให้คนไปกู้มากขึ้น และออมน้อยลง ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยต้องดูแลทั้งผู้กู้และผู้ออม

และไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความมั่นคงในการออมเป็นเรื่องสำคัญ ในการตัดสินนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง. หน่วยงานของธปท.) ย้ำบ่อยครั้งว่า นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (ดอกเบี้ยต่ำ) ยังจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจไทย แต่การผ่อนคลายที่มากเป็นพิเศษเหมือนกับที่ใช้ช่วงภาวะวิกฤตคงไม่ได้เพราะตอนนี้เศรษฐกิจขยายตัวตามศักยภาพแล้ว 

“โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ทุกนโยบายมีต้นทุนของมัน มีทั้งข้อดีข้อเสีย การทำนโยบายการเงินต้องชั่งน้ำหนักวัตถุประสงค์ และชั่งเรื่องผลระยะสั้นกับระยะยาวด้วย ซึ่งหน้าที่อันหนึ่งของธนาคารกลางคือการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมองไปในระยะยาว มองข้ามวัฏจักรเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ”

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเก็บ Policy Space ไว้เป็นเครื่องมือในวันที่ระบบเศรษฐกิจมีความเปลี่ยนแปลง

ภาวะดอกเบี้ยต่ำส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร?

เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ต่ำมีผลข้างเคียงคือ 1. ด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน จะมีจุดเปราะบาง เพราะเมื่อดอกเบี้ยต่ำ คนก็หาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for yield) และคนจะประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร จนอาจกระทบกับเสถียรภาพการเงิน

2. ปัญหาหนี้ปัจจุบันทั่วโลกมีอัตราหนี้ต่อ GDP สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ไ่ม่ว่าจะหนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน หนี้บริษัท และหนี้ภาคครัวเรือน ในส่วนของประเทศไทยมีปัญหาเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน เพราะผลตอบแทนจากการออมมันต่ำมาก ไม่มีแรงจูงใจให้คนออม และต้นทุนของเงินมันถูกกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนเป็นหนี้เลยมีมากกว่า

ดอกเบี้ยขยับขึ้นกระทบใครบ้าง?

Loan home car
ภาพจาก Shutterstocks

ในไทยปัจจุบันสภาพคล่อง (เงิน) ในระบบยังมีสูง ดังนั้นดอกเบี้ยอย่าง MOR MLR MRR ไม่ควรจะได้รับผลกระทบโดยตรง ธปท.คาดการณ์ไว้ว่า ในภาวะที่มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่สูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารไม่ควรจะขยับ เพราะแบงก์ยังมีการแข่งขันสูง ทำให้ผลกระทบกับภาคประชาชนไม่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจาก ค่างวดในการผ่อนชำระยังเท่าเดิม

ปัจจุบันประชาชน 1 ใน 3 ของทั้งระบบใช้ดอกเบี้ยลอยตัว อย่างสินเชื่อบ้านส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยคงที่ ส่วนดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตจะอยู่ในระดับที่กำหนดไว้ไม่เพิ่มขึ้น แต่อาจจะเกิดผลกระทบกับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ให้บริษัทขนาดใหญ่จะไม่ถูกลงกว่านี้ ขณะเดียวกันเชื่อว่าขอดอกเบี้ยเงินออมในธนาคารจะเพิ่มขึ้น

ภาพจาก Shutterstock

10 ปีที่ผ่านมา ดอกเบี้ยไทยเป็นอย่างไรบ้าง?

ถ้ามองย้อนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยต่ำสุดอยู่ที่ 1.25% ในปี 2552 หลังจากวิกฤต Global Financial ในปีนั้นซึ่งเศรษฐกิจไทยติดลบ 0.7% เศรษฐกิจโลกติดลบ เกิดวิกฤตสถาบันการเงินขึ้นทั่วโลกถือว่าเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวดอกเบี้ยนโยบายจึงค่อยๆ ปรับขึ้น เศรษฐกิจไทยผ่านปัญหาหลายเรื่องเช่น การเมือง น้ำท่วมครั้งใหญ่ (2554) ทว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้วธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปอยู่ที่ 1.5%  ซึ่งปีนั้นมีวิกฤตการเมืองในไทย ไม่มีรัฐบาลหลายเดือน จนเกิดรัฐบาลคสช.

รัฐบาลคสช.เข้ามาตอนนั้นก็ไม่มีงบประมาณด้วยซ้ำ ไปต้องเร่งทำงบประมาณมาตรการการคลังทั้งหมด วันนั้นคณะกรรมการนโยบายการเงิน กนง.ก็เห็นว่า จำเป็นที่จะต้องเข้าไปช่วยดูแลสภาวะเศรษฐกิจในช่วงสั้น แล้วก็ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปเหลือที่ 1.5%”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ภาพจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย)

เห็นชัดว่าในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ต่ำ เพราะเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจ และนโยบายอื่นๆ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เพราะว่ามีปัญหาเรื่องวิกฤตการณ์ทางการเมือง แต่วันนี้จีดีพีไทยขยายตัวใกล้ 4% ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2561 นี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.2% และปีหน้าก็คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4% ดอกเบี้ยนโยบายก็ควรเพิ่มขึ้นแต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ควรจะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ

“Transmission mechanism (กลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน) ตัวนโยบายการเงินไม่ใช่นโยบายที่กดปุ่มแล้วจะมีผลทันที นโยบายต้องทำงานผ่านระบบสถาบันการ เงินผ่าน cycle ต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การส่งผ่านนโยบายการเงินไปถึงอย่างที่เราต้องการ

ครั้งนี้เรามาจากจุดที่มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่เยอะ มาจากจุดที่นโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ เหมือนมีน้ำที่เอ่ออยู่เยอะ การที่เราค่อยๆ ปรับขึ้นไม่ได้ส่งผลให้เห็นในทันทีทันใด แต่มันต้องเริ่มซึ่งเราไม่ควรจะปรับและให้เกิดผลแรงด้วย เราต้องการที่จะไม่ทำให้เกิด Shock ในระบบเศรษฐกิจ”

สรุป

แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ไม่จูงใจให้คนออม คนเลยเอาเงินออกไปลงทุนที่เสี่ยงมากขึ้น ลองนึกภาพคนไทยเอาเงินไปลงทุนหุ้น ไปลงทุนในสหกรณ์แล้วเสียหายขึ้นมา ก็ส่งผลต่อเสถียรภาพการเงินไทยอีก ผู้ว่าฯ ธปท.ย้ำว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เชื่อว่าแบงก์พาณิชย์จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยกับรายย่อย เพราะการแข่งขันในตลาดยังสูง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา