เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ต้องรู้! “ฐิติกร” มองตลาดยังโตได้ แม้บ.สินเชื่อยังเข้มงวดการปล่อยกู้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ฐิติกร” หรือ TK คือเบอร์หนึ่งตลาดปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ผ่านรายได้กว่า 775 ล้านบาทจากธุรกิจนี้ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยในตอนนี้ ตลาดเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จะเป็นอย่างไรล่ะ?

มอเตอร์ไซค์
รถจักรยานยนต์

ยอดขายรถจักรยานยนต์ที่โตลำบาก

ปัจจุบันการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์นั้นค่ายผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนั้นคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2561 นั้นน่าจะเติบโตกว่าที่คาดการณ์ไว้ในต้นปี เพราะปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ และความชัดเจนในเรื่องต่างๆ ของประเทศนั้นเป็นลบ ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์น่าจะเหลือราว 1.81 ล้านคันเท่ากับปีก่อน

“ตลาดมอเตอร์ไซค์นั้นเติบโตมา 2 ปีซ้อนนับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2560 ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553-2555 เพราะเวลานั้นมีการผ่อนคลายเรื่องการปล่อยสินเชื่อ และมาตรการจากภาครัฐก็ช่วยได้ไม่มากก็น้อย แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว” ประพล พรประภา รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิจิกร กล่าว

ตลาดรถจักรยานยนต์
ภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์

อย่างไรก็ตามถึงตลาดรถจักรยานยนต์จะเติบโตลำบาก แต่ฝั่งธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์นั้นยังเดินหน้าไปด้วยดี เพราะในต่างจังหวัดยังเป็นที่นิยม รวมถึงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็ยังมีสัดส่วน 35-40% ของยอดซื้อรถจักรยานยนต์อยู่ โดยประเภทรถที่ได้รับความนิยมคือ รถออโตเมติกคันเล็ก, รถแบบครอบครัว และรถแบบสปอร์ต

กระจายธุรกิจไม่ใช่แค่รถจักรยานยนต์

ทั้งนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงในตัวธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ยังไม่เติบโตในตอนนี้ออกไป “ฐิติกร” จึงเดินหน้าทำธุรกิจเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อรถยนต์, สินเชื่อเพื่อรายย่อย รวมถึงขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีความต้องการใช้รถจักรยานยนต์ไม่แพ้ประเทศไทย

ฐิติกร
ธุรกิจของบมจ.ฐิติกร

“ตลาดรถยนต์นั้นฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากผ่านจุดสูงสุดในการจำหน่ายเมื่อช่วงนโยบายรถยนต์คันแรก เราจึงคาดว่าการเข้าไปบุกตลาดนี้ก็น่าจะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจเช่นกัน ส่วนเรื่องการขยายไปในตลาดต่างประเทศตอนนี้เราก็บุกทั้งกัมพูชา, ลาว และเมียนมาแล้ว ถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับเรา”

ในทางกลับกันถึงจะขยายไปทำธุรกิจอื่นๆ แต่รายได้ของ “ฐิติกร” ก็มาจากการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์อยู่ดี ตั้งแต่ต้นปี 2561 ถึงสิ้นไตรมาส 3 รายได้จากการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยายนต์คิดเป็นราว 80% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนรายได้จากการปล่อยสินเชื่อรถยนต์นั้นคิดเป็น 0.8% เท่านั้น

ฐิติกร
สัดส่วนรายได้ของบมจ.ฐิติกร

โอกาสเติบโตยังมีถ้ารักษาหนี้ได้ดี

สำหรับรายได้ของ “ฐิติกร” นั้นเมื่อสิ้นปี 2560 อยู่ที่ 3,653 ล้านบาท กำไร 467 ล้านบาท ส่วนในปี 2561 นั้น 9 เดือนแรกของปีดังกล่าวปิดรายได้ที่  2,883 ล้านบาท กำไร 303 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าทิศทางในไตรมาสสุดท้ายก็มีโอกาสเติบโตกว่าปี 2561 เล็กน้อย เนื่องจากมีการขยายตลาดไปหลากหลายช่องทาง

ยิ่งถ้าเจาะไปที่การบริหารจัดการหนี้ที่เป็นหัวใจของธุรกิจปล่อยสินเชื่อนั้น “ฐิติกร” ก็ค่อนข้างทำได้ดี เพราะอัตราหนี้ที่คงค้างจ่ายนั้นค่อนข้างน้อย และเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ที่ชำระตรงกับเวลาทั้งสิ้น ยิ่งตัวธุรกิจมีการตั้งบริษัทย่อยเข้ามาดูแลเรื่องนี้เอง การติดตามหนี้เสียก็น่าจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ฐิติกร
การบริหารสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพของบมจ.ฐิติกร

ปัจจุบัน “ฐิติกร” บริหารการปล่อยสินเชื่อมูลค่ากว่า 7,996 ล้านบาท และมีบริษัทย่อย 6 บริษัทคือ C.V.A. ที่คอยติดตามหนี้, CPY ที่ให้สินเชื่อรถยนต์, เงินทันใจ ให้สินเชื่อระดับ Nano Finance และ 3 บริษัทที่ทำธุรกิจในกัมพูชา, ลาว และเมียนมา

สรุป

ธุรกิจปล่อยสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์นั้นเป็นอีกธุรกิจที่น่าจับตามอง เพราะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของคนไทยที่ยังใช้รถจักรยายนต์อยู่ แม้ดอกเบี้ยจะค่อนข้างสูง แต่ก็ยอมจ่ายกัน ดังนั้นอนาคตของสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ต้องดีอยู่แน่นอน และเชื่อว่า “ฐิติกร” ก็น่าจะเติบโตในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา