นักวิเคราะห์คาดแบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายธ.ค. 61 อีก 0.25% แล้วจะกระทบเราอย่างไร?

19 ธ.ค. 2561 มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ตอนนี้อยู่ที่ 1.5%

แต่หลายฝ่ายลุ้นกันว่ารอบนี้จะปรับขึ้นนโยบายแล้ว….จะมีผลกับเราอย่างไร

กรุงศรีฯ-TMB คาดแบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบ 7 ปี

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า การประชุม กนง.รอบนี้คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปที่ 1.75% ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 7 ปี สาเหตุที่ขึ้นดอกเบี้ยก็เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน

แต่ถ้า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอาจจะสร้างความสับสนให้ตลาดการเงินว่านโยบายการเงินไทยจะไปทางไหนกันแน่

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics บอกว่า ปลายปี 2561 ดอกเบี้ยนโยบายเริ่มเข้าสู่ขาขึ้น แต่จะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มที่ ธ.ค. 61 ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.75% และไตรมาส 3/62 ขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งจนสิ้นปี 62 ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ 2% แต่จะไม่กระทบต้นทุนการเงินของภาคธุรกิจเพราะสภาพคล่องของธนาคารยังอยู่ระดับสูง

โดยปัจจัยหนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่สูงกว่าระดับศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อขยับสูงขึ้นอยู่ในกรอบเป้าหมาย และเป็นการสร้างความสามารถในการดำเนินนโยบายหรือ policy space รองรับความผันผวนตลาดการเงินโลก

TMB Economy thai

CIMBT เผยเหตุผลทำไมกนง.ต้องขึ้นดอกเบี้ย?

อมรเทพ จาวะลา ผู้บริการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย บอกว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นการสะสมดอกเบี้ยไว้ หรือการทำ Policy Space ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยสะสมไว้ใช้ลดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อถึงคราวจำเป็น

ดังนั้นอาจจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ในเดือน ธ.ค. 2561 มาอยู่ที่ 1.50% เพื่อส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นให้ชัดและหาจังหวะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งเดือน มี.ค. 62 และไตรมาส 3 ปี 62 ซึ่งมองว่าการไม่ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยช้าหรือเร็วก็ไม่น่ากระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นการขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่รวดเร็วเหมือนในอดีต

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของ กนง.ว่ากังวลเรื่องอะไร หากกังวลเรื่องการเติบโตที่ยังช้าและมีความเสี่ยงก็จะรอตัวเลข GDP ไทยไตรมาส 4/61 ที่จะออกเดือน ก.พ. 62 ก่อนตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเดือน มี.ค.62 แต่ก็มองว่าภายใน 12 เดือนข้างหน้ามองว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ทำให้ปลายปี 2562 ดอกเบี้ย กนง.จะอยู่ที่ 2.0%

กสิกรไทยชี้เทรนด์ปี 62  แบงก์ไทยปรับดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้บ้านและรถ

Loan home car
ภาพจาก Shutterstocks

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย บอกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีผลต่อเศรษฐกิจไทย โดยศูนย์วิจัยฯ มองว่า กนง.มีโอกาสมากขึ้นที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ที่เป็นรอบสุดท้ายของปี 61 (ขึ้นตามธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดที่ประชุมในวันเดียวกัน) เพราะ ธปท.ส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 

ส่วนปี 2562 มองว่า กนง.มีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วยครึ่งปีหลัง เมื่อผ่านช่วงการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ครึ่งปีแรกมองว่าธนาคารต่างๆ จะมีการปรับดอกเบี้ยโดยเน้นไปที่อัตราเงินฝากประจำพิเศษ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านและดอกเบี้ยกู้รถที่มีระยะค่อนข้างยาว 

ดังนั้นจะเห็นสินเชื่อในระบบแบงก์เร่งตัวในครึ่งปีหลัง แต่เพราะเศรษฐกิจไทยที่แรงส่งลดลงทำให้ทั้งปี 2562 มองว่าสินเชื่อแบงก์จะโต 0.5% ชะลอตัวจากปีนี้ที่อยู่ระดับ 6.0% ส่วน NPL (หนี้เสีย) ในระบบธนาคารไทยและต่างชาติมีโอกาสที่จะแตะจุดสูงสุดรอบใหม่ในปีหน้าที่ระดับ 2.98% (สิ้นปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.91%) โดยต้องจับตาสินเชื่อ SME และสินเชื่อบ้าน

สรุป

ต้นทุนการเงินของธนาคารและภาคธุรกิจส่วนหนึ่งมากจาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ซึ่งการประชุมรอบนี้ถือเป็นช่วงให้หลายฝ่ายลุ้นกันว่า ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 7 ปี บางแบงก์มองว่าจะทำให้แบงก์ต้องปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น และเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ แต่บางแบงก์มองว่าการแข่งขันในระบบยังสูง ไหนจะสภาพคล่อง (เงินในมือแบงก์) ยังเหลือเยอะแบงก์ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยกับลูกค้ามากนัก แต่สิ้นปีหน้าใครๆก็มองว่าดอกเบี้ย กนง.จะอยู่ที่ 2% คงต้องจับตากันให้ดี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง