ผู้ประกอบการควรรู้ มุมมองและทิศทางค่าเงินบาทไทยปี 2019 จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา

มุมมองความเสี่ยงในปีหน้าเรื่องของค่าเงินบาทของไทยยังคงมีความท้าทายจากหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ เช่น อัตราดอกเบี้ย สงครามการค้า ฯลฯ

ภาพจาก Shutterstock

ใกล้จะหมดปีเข้าไปเรื่อยๆ สภาพตลาดเงินและตลาดทุนในตอนนี้ก็มีความผันผวนเป็นอย่างมาก และในปี 2019 ยังมีความเสี่ยงและความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยควรที่จะรู้เกี่ยวกับมุมมองค่าเงิน โดยเฉพาะค่าเงินบาทไทย ที่ปีหน้ามีปัจจัยต่างๆ อาจเข้ามากระทบ

Brand Inside รวบรวมมุมมองจากทีมงานกรุงศรีโกลบอลมาร์เก็ตส์ถึงมุมมองทิศทางตลาดเงินในปีหน้า

สภาพตลาดในช่วงที่ผ่านมา

กรุงศรีโกลบอลมาร์เก็ตส์ มองว่าบรรยากาศการลงทุนผันผวน ปัจจัยสำคัญมาจาก “สงครามการค้า” นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังประนามประเทศจีนเรื่องการลดค่าเงินหยวน ส่วนทางด้านจีนทำอะไรไม่ได้มาก โดยอาจพิจารณาลดค่าเงินหยวน รวมไปถึงขายพันธบัตรสหรัฐ ทำให้นักลงทุนและสถาบันการเงินความสับสน เป็นปัจจัยทำให้ตลาดผันผวน ถึงแม้ว่าทั้ง 2 ประเทศจะไม่เพิ่มเพดานภาษีไปอีก 90 วัน แต่ถ้าเส้นตายงวดเข้ามา ตลาดก็มีความกังวลอยู่ดี

ส่วนสถานการณ์ด้านยุโรปยังไม่แน่ไม่นอน เช่น นโยบายเศรษฐกิจของอิตาลี หรือ การเลือกประธานธนาคารกลางยุโรปคนใหม่ แต่จุดเปลี่ยนคือยุโรปขึ้นดอกเบี้ยช้าลง ทำให้นักลงทุนโยกเงินกลับสหรัฐฯ

นอกจากนี้ค่าเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets มักจะสวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ ทำให้ธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายขึ้นดอกเบี้ย ส่วนทางด้านค่าเงินบาทไทยก็อ่อนค่าลงเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีเงินบาทยังอ่อนค่าน้อยกว่าในภูมิภาค และค่าเงินบาทก็ผันผวนมากขึ้น ตอนต้นปีอ่อนค่า กลางปีเริ่มแข็งค่าอย่างรวดเร็ว

ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเงินในปีหน้า

ทิศทางขึ้นดอกสหรัฐปีหน้าน่าจะขึ้นในอัตราที่ช้าลง นอกจากนี้มุมมองที่ว่าสหรัฐน่าจะรับมือกับสงครามการค้าได้ดีนั้นเปลี่ยนไป เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตลดลงจากสาเหตุการค้าทั่วโลกชะลอตัวลง ทำให้ทีมงานกรุงศรีโกลบอลมาร์เก็ตส์มองว่าปีหน้าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยเพียงรอบเดียว

ส่วนท่าทีของธนาคารกลางอื่นๆ เช่น ธนาคารกลางยุโรป น่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในปลายปี 2562 และขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ทางด้าน ธนาคารกลางญี่ปุ่น ยังคงรักษานโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น การเจรจาเรื่องการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน การเจรจา Brexit กับสหภาพยุโรปว่าจะออกไปในทิศทางใด ราคาน้ำมันดิบ และรวมไปถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 2 ปี มีผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตร 10 ปี (หรือ Invert) อาจส่งสัญญาณสภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ค่าเงินบาทของไทย

ประเด็นที่ต้องจับตามองในระยะสั้นคือการขึ้นดอกเบี้ยขอคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จาก 1.5% ขึ้นเป็น 1.75% นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. จะปรับสมดุลนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเน้นไปที่การดูแลความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพการเงิน เนื่องจากความเปราะบางของเสถียรภาพที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยกรุงศรีโกลบอลมาร์เก็ตส์คาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม กนง. ครั้งนี้

นอกจากนี้ในปีหน้าสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องพบเจอคือ ความผันผวนของค่าเงินบาท เนื่องจาก สภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากขึ้น จากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลงมากขึ้น ภาคการท่องเที่ยวที่เผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจโลก และรวมไปถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนอีกด้วย

ทิศทางของดอกเบี้ย ดอกเบี้ยของสหรัฐจะอยู่ประมาณ 2.95% ส่วนของไทยคาดว่าปลายปี 2562 จะอยู่ที่ 2%  ส่วนยุโรปและญี่ปุ่นยังคาดว่าจะยังคงนโยบายเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในปีหน้า

  • ไตรมาสแรกค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 31-33 บาท / ดอลลาร์สหรัฐ
  • ไตรมาสสองค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 31-32.75 บาท / ดอลลาร์สหรัฐ
  • ไตรมาสสามค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 30.75-32.50 บาท / ดอลลาร์สหรัฐ
  • ไตรมาสสี่ค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 30.75-32.50 บาท / ดอลลาร์สหรัฐ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ