ตอนนี้ Gucci คือแบรนด์ที่ได้รับความนิยมจาก Millennial อย่างมาก และ Millennial เองก็เป็นผู้ทำให้ยอดขาย Gucci แตะ 6,000 ล้านยูโร (ราว 2 แสนล้านบาท) ใน 9 เดือนแรก แต่อะไรคือเหตุผลของความนิยมนี้ล่ะ?
Social Media และการปรับภาพลักษณ์คือหัวใจ
หากใครที่ชอบไปย่านวัยรุ่น หรือตาม Social Media อยู่ตลอดจะพบว่า มีคนจำนวนมากที่สวมใส่เครื่องแต่งกาย หรือใช้เครื่องประดับของแบรนด์ Gucci ทั้งเข็มขัด, กระเป๋า หรือเสื้อคลุม นอกจากนี้แบรนด์โลโก้ GG นี้เองก็ผลิตสินค้าที่ไม่มีใครคาดคิดอย่างเป้อุ้มเด็กที่สกรีนโลโก้ GG กับราคา 625 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 20,000 บาท) ด้วย
โดยเมื่อผ่านไป 9 เดือนของปี 2561 ยอดขาย Gucci นั้นเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาของปีก่อนถึง 35.6% คิดเป็นมูลค่า 6,000 ล้านยูโร (ราว 2 แสนล้านบาท) ซึ่งแนวโน้มของคนที่ซื้อก็ยังมาจากกลุ่ม Millennial เหมือนกับที่ช่วง 6 เดือนแรก Gucci มียอดขายจากกลุ่มอายุ 18-35 ปีถึง 55%
แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้ Gucci กลายเป็นที่นิยมอย่างมากก็เพราะการปรับภาพลักษณ์ตัวเองจากแบรนด์ผลิตสินค้าหรู, จำหน่ายสินค้าหรู เพื่อลูกค้าชนชั้นสูง เป็นการลดอายุแบรนด์ พร้อมกับจ้าง Alessandro Michele มาเป็น Creative Director เพื่อเดินเกม Streetwear เต็มรูปแบบด้วย
Gucci กับการสร้าง Pop Culture ของคนรุ่นใหม่
ด้วย Gucci ถือกำเนิดจากการผลิตสินค้าหรูเพื่อชนชั้นสูง เช่นกระเป๋ารุ่น The Jackie ที่ Jackie Kennedy ใช้งานจริง รวมถึงการผลิตสินค้าเกี่ยวกับการขี่ม้า แต่ถึงการเปลี่ยนแปลงตัวเองแค่ไหน Gucci ก็ยังเป็นแบรนด์หรูอยู่ แต่มันแค่ไมใช่สำหรับแค่ชนชั้นสูงใช้งานเพียงอย่างเดียวก็แค่นั้น
เรียกว่า Alessandro Michele เข้ามาสร้าง Pop Culture ยุคใหม่ที่ผู้บริโภคต้องการขวนขวายหาอดีตที่น่าจดจำ แต่ต้องมาพร้อมกับอะไรใหม่ๆ ด้วย ซึ่ง Gucci ก็ทำออกมาได้อย่างดี และเป็นแบรนด์ที่ Friendly กับ Millennial มากแบรนด์หนึ่ง ที่สำคัญด้วย Gucci ยังแสดงถึงความหรูหรา ก็ตอบโจทย์ Millennial ที่อยากมั่งคั่งเร็วๆ เช่นกัน
ตัวอย่างคือการนำ Logo ของ Gucci ไม่ว่าจะเป็นชื่อแบรนด์ หรือสัญลักษณ์ GG มาแสดงไว้บนเครื่องแต่งกายอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมันก็ช่วยตอกย้ำให้ผู้อื่นรู้ว่าผู้สวมใส่นั้นใส่เสื้อผ้าของแบรนด์อะไร และแสดงให้เห็นถึงความหรูหรา และร่ำรวยของตัวเองได้อย่างชัดเจนกว่าเดิมด้วย
Logo กับการแสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยของผู้สวมใส่
อย่างไรก็ตามการนำ Logo มาใช้งานแบบโจ่งแจ้งนั้นไม่ใช่ครั้งแรกของวงการแฟชั่น เพราะยุค 90’s (พ.ศ.2533-2542) นั้นแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ก็ใช่ Logo มาแสดงอย่างชัดเจนเช่นกัน ดังนั้นระยะเวลา 20 ปี ก็คงจะถึงเวลาที่แฟชั่นที่ได้รับความนิยมในตอนนั้นกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง
ในทางกลับกัน Gucci ก็เคยใช้กลยุทธ์ไร้แบรนด์ในการออกแบบมาเมื่อปี 2558 เพราะเวลานั้นเศรษฐกิจยังได้รับผลกระทบจากวิกฤติเมื่อปี 2551 ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ใส่ใจเรื่องแบรนด์มากนัก แต่นั่นก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วผู้สวมใส่ก็อยากใส่ Gucci เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยเช่นเดิม
ขณะเดียวกันการใช้ Logo ก็ยังตอบโจทย์กระแสของคนยุคนี้ที่ต้องการ Minimal สูง ดังนั้นการตัดสินใจเดินเกมครั้งนี้ของ Gucci จึงประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ถ้าถามว่าแบรนด์อื่นจะเลียนแบบได้หรือไม่ อันนี้ก็ต้องดูกันยาวๆ เพราะกระแสเรื่อง Logo ก็เริ่มมาแล้ว ประกอบกับ Millennial ก็คิดเป็น 85% ของยอดขายสินค้าหรูทั้งหมดด้วย
สรุป
Gucci เป็นอีกตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้ดี เพราะหากแบรนด์ไม่เดินหน้าไปในมุม Streetwear แล้วล่ะก็ โอกาสเติบโตตามตลาดก็จะน้อยลง ผ่านตัวแบรนด์สินค้าที่ยังเป็นที่ต้องการแค่กับคนยุคเก่า ดังนั้นคงต้องติดตามต่อไปว่าแบรนด์ไหนจะนำความสำเร็จของ Gucci มาต่อยอดอีกบ้าง
อ้างอิง // Business Insider
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา