ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เผยทิศทางสู่อนาคตในโลกดิจิทัลของเมืองไทยและวิสัยทัศน์ด้านบทบาทของ AI ในสังคมในงานสัมมนา “Future Now” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้แนวคิด “AI for Thais” ในโอกาสนี้ ไมโครซอฟท์ได้เน้นย้ำถึงความเป็นผู้นำระดับโลกในด้านแพลตฟอร์ม AI ด้วยตัวอย่างโซลูชั่นและเรื่องราวความสำเร็จของลูกค้าที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าในการผสมผสาน AI เข้ากับชีวิตและการทำงานในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับทัศนะและแนวคิดสำหรับอนาคตจากผู้บริหารระดับสูงและนักวิจัยชาวไทยจากสถาบัน Microsoft Research Cambridge
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “งานวิจัยที่ไมโครซอฟท์จัดทำขึ้นร่วมกับไอดีซีระบุว่าเทคโนโลยีอย่าง AI และ IoT ถือเป็นนวัตกรรมอันดับหนึ่งที่กำหนดทิศทางในอนาคตของธุรกิจทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในฐานะฟันเฟืองหลักที่จะขับเคลื่อนวิถีชีวิตและโลกธุรกิจไปสู่ยุคใหม่ที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น การวางรากฐานให้ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและสังคมไทยได้อย่างลงตัวและเต็มประสิทธิภาพนั้น จะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญใน 4 ด้านหลักๆ ด้วยกัน เริ่มต้นจากการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลให้กับคนไทยอย่างทั่วถึง การปรับแต่งเทคโนโลยีให้เข้ากับสภาพการใช้งานจริง เช่นในด้านของภาษา วัฒนธรรม หรือแม้แต่กฎหมายและกรอบนโยบาย การยกระดับเครือข่ายพันธมิตรและนักพัฒนาทั่วประเทศให้นำ AI มาใช้ได้อย่างเต็มที่ และความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ ออกแบบ และปรับแต่งผลิตภัณฑ์และบริการมาโดยเฉพาะ เพื่อความสำเร็จของลูกค้าในประเทศไทย”
อนาคตของ AI เปี่ยมด้วยศักยภาพ แต่ต้องการความสมดุลเชิงสังคม
ดร. พญ. พิจิกา วัชราภิชาต เป็นนักวิจัยชาวไทยผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของทีม Microsoft Research ประจำศูนย์วิจัยที่เมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
“AI และ machine learning เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาโรคต่างๆ ได้ในอนาคต” ดร. พญ. พิจิกา เผย “นวัตกรรมทั้งสองได้ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในด้านระบบการประมวลภาพทางการแพทย์และการวิเคราะห์ประวัติสุขภาพเชิงลึกแบบก้าวหน้า ขณะที่วงการการแพทย์ในภาพรวมก็กำลังมุ่งหน้าไปสู่ยุคของเวชศาสตร์เชิงป้องกัน ด้วยการคาดการณ์และยับยั้งโรคร้ายอย่างรวดเร็ว แทนที่จะเยียวยารักษาอาการในภายหลัง นอกจากนี้ ศักยภาพของ AI ในการประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลอย่างชาญฉลาดยังจะช่วยเสริมความแม่นยำในการให้การรักษาถึงระดับบุคคล สนับสนุนให้การทำงานของบุคลากรแพทย์ในทุกขั้นตอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปูทางไปสู่การค้นพบใหม่ๆ อีกมากมาย เช่นการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ที่มีความซับซ้อนสูงสุดให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้”
ถึงแม้ว่า AI จะสามารถทำงานในหลายๆ ด้านได้แม่นยำกว่ามนุษย์มาก แต่ ดร. พญ. พิจิกายังมองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ถือเป็นภัยต่อโอกาสในการทำงานของมนุษย์ “AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ แต่จะสามารถเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้สามารถทำงานกับข้อมูลได้เต็มประสิทธิภาพกว่าที่เคย ตัดสินใจได้แม่นยำกว่า และเดินหน้าสู่การค้นพบในหลากหลายสาขาได้รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”
ความเห็นของ ดร. พญ. พิจิกา สอดคล้องกับแนวคิดของ ซันนี่ พาร์ค ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและองค์กรสัมพันธ์ ไมโครซอฟท์ เอเชียแปซิฟิก: “ผลวิจัยของไมโครซอฟท์และไอดีซีเผยว่ากว่า 95% ของตำแหน่งงานในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีในช่วงสามปีข้างหน้า โดยถึงแม้ว่าจะมีตำแหน่งงานราว 30% ที่จะถูกกระจายออกสู่แรงงานนอกประเทศ แทนที่ด้วยเทคโนโลยี หรือหมดความจำเป็นลงไป แต่ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีดิจิทัลก็จะทำให้มีตำแหน่งงานใหม่ๆ ปรากฎขึ้นในปริมาณที่ใกล้เคียงกันเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ในตลาดแรงงาน ขณะที่อีก 35% จะยังคงรักษาตำแหน่งงานในรูปแบบเดิมเอาไว้ ข้อมูลทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีไม่ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียโอกาสในตลาดแรงงาน แต่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความต้องการด้านแรงงาน และการเสริมสร้างทักษะในด้านใหม่ๆ ต่อไป ปัจจุบัน ไมโครซอฟท์กำลังทำงานร่วมกับหลากหลายภาคส่วนเพื่อเร่งพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโครงการสำหรับเยาวชน เช่นความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในโครงการ Coding Thailand หรือโครงการอื่นๆ สำหรับบุคลากรในตลาดแรงงานปัจจุบัน เมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟท์ได้จับมือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอีกหลายรายภายใต้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลให้กับแรงงานทั่วภูมิภาคอาเซียน ภายใต้โครงการ ดิจิทัล อาเซียน ของเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับทักษะของแรงงานกว่า 20 ล้านคนภายในปี 2563”
นอกจากนี้ ซันนี่ พาร์ค ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องวางรากฐานเชิงศีลธรรมและกฎหมายเพื่อรองรับและควบคุมการพัฒนา AI ต่อไป “AI จะทวีความสามารถมากขึ้นในอนาคต และเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ทั้งภาครัฐ นักวิชาการ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และภาคเอกชน ต่างต้องร่วมมือกันกำหนดหลักการและกรอบนโยบายสำหรับการสร้างและใช้งานระบบ AI ในอนาคต โดยหลักการเหล่านี้จะมุ่งส่งเสริมให้ AI ทำงานอย่างยุติธรรม มั่นคง ปลอดภัย รักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และมีความโปร่งใส หรือหากให้สรุปสั้นๆ ก็คือ AI จะต้องทำงานโดยมีความรับผิดชอบนั่นเอง การจะไปให้ถึงจุดนี้ได้ เราจะต้องมีกฎหมายที่แน่นหน้าในด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และไมโครซอฟท์เองก็มีความยินดีที่ได้เห็นหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการร่างกฎหมายที่ครอบคลุมประเด็นหลักทั้งสองนี้”
ปัจจุบันของ AI เติมศักยภาพเชิงดิจิทัลให้ทุกคน
ในงาน “Future Now” ไมโครซอฟท์ยังได้จัดแสดงโซลูชั่นระดับรางวัลจากสตาร์ทอัพไทย บลู โอเชียน เทคโนโลยี นำโดยนายเพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท โซลูชั่น VRSIM นี้ ผสมผสานเทคโนโลยี VR และ machine learning เข้าด้วยกัน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการฝึกสอนผู้ควบคุมเครื่องจักรเพื่อการเกษตร ตัวอย่างเช่นรถตัดอ้อย ซึ่งนอกจากระบบดังกล่าวจะสามารถก้าวผ่านข้อจำกัดของวิธีฝึกสอนแบบเดิมๆ ไปได้แล้ว ยังช่วยเสริมประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวอ้อยผ่านทาง machine learning ได้อีกด้วย
“โดยปกติแล้ว การฝึกสอนพนักงานขับรถตัดอ้อยเป็นกระบวนการที่กินเวลานาน และยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับผลิตผลอีกด้วย และหากนับจากช่วงเริ่มแรกในการสังเกตการณ์พนักงานผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงการขับรถเก็บเกี่ยวด้วยตนเอง ก็อาจกินเวลารวมทั้งหมดนานถึงสามปี” นายเพิ่มพงศ์กล่าว “VRSIM นำเทคโนโลยี VR มาเปิดโอกาสให้นักขับมือใหม่ได้ฝึกฝนและเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง โดยที่ไม่ต้องรอฤดูเก็บเกี่ยวหรือเสี่ยงไปกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และด้วยพลังจาก machine learning เรายังสามารถนำประสบการณ์และความเข้าใจของนักขับรถตัดอ้อยมืออาชีพมาวิเคราะห์ เพื่อแนะนำเส้นทางการขับรถเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยให้ได้รวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่เก็บเกี่ยวมากที่สุด”
โซลูชั่น VRSIM ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าของรางวัล Thailand ICT Awards (TICTA) 2018 ในสาขาอุตสาหกรรม (การเกษตร) และยังเป็นหนึ่งในผลงานที่ผ่านเข้าสู๋รอบสุดท้ายเพื่อชิงรางวัล ASEAN ICT Awards (AICTA) 2018 ในสาขาดิจิทัลคอนเทนท์อีกด้วย
จากปัจจุบันสู่อนาคต บนเส้นทาง AI ของไมโครซอฟท์
นอกจากจะเป็นพลังขับเคลื่อนนวัตกรรมจากนักคิด นักสร้างสรรค์ เจ้าของธุรกิจ และพันธมิตร ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกแล้ว แพลตฟอร์ม AI ของไมโครซอฟท์ยังเต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยทั้งในระดับโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือแม้แต่ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่พร้อมใช้งานได้จริง
ส่วนสถาบันวิจัย Microsoft Research (MSR) ยังคงเป็นผู้นำในด้านการสำรวจทุกขอบเขตทางนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สำหรับการใช้งานหลากหลายรูปแบบ ศูนย์วิจัยสาขาเอเชียของไมโครซอฟท์ (MSRA) เพิ่งจะฉลองครบรอบ 20 ปีเต็มไปเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากที่ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยรวมแล้วทั้งสิ้นเกินกว่า 5,000 ชิ้น ซึ่งล้วนถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงสถานะความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของบริษัท
“เราภูมิใจมากที่แพลตฟอร์มคลาวด์และ AI ของไมโครซอฟท์ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระบบนิเวศทางเทคโนโลยีของทั้งประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกให้รุดหน้าต่อไป ให้ทุกภาคส่วนได้มุ่งหน้าสู่ความสำเร็จไปด้วยกัน เพราะสำหรับไมโครซอฟท์แล้ว เครื่องวัดความสำเร็จของเราและพันธมิตรก็คือความสำเร็จของลูกค้านั่นเอง” นายธนวัฒน์กล่าวปิดท้าย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา