จับตาหนังไทย Tier 2 สร้างจุดเปลี่ยนให้ตลาดโรงหนังโตกระฉูด

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์มองเกมอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ต้องกระตุ้นด้วยหนังไทย และขยายโรงไปต่างจังหวัด โดยที่หนังไทย Tier 2 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในตลาด

หนังไทย Tier 2 คืออะไร

ถ้าพูดถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย หรือเรียกสั้นๆ ว่าหนังไทย มีตลาดได้มีค่ายหนังรองรับอยู่มาก ที่เป็นที่รู้จักอย่างดีก็คือ GDH, สหมงคลฟิล์ม, M39, T Moment, M Pictures และอื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าคนในเมืองหน่อยจะค่อนข้างถูกจริตกับหนังจากค่าย GDH สามาถรสร้างรายได้ถึง 100 ได้เกือบทุกเรื่องที่เข้าฉาย และเป้นกระแสอยู่บนโลกออนไลน์อยู่ตลอด

แต่ตอนนี้ต้องจับตามองดู “หนังไทย Tier 2″ ที่เข้ามาเขย่าตลาด ส้รางการเติบโตให้ตลาดได้อย่างยั่งยืน โดยหนังไทย Tier 2 ถูกอธิบายง่ายๆ ว่า เป็นหนังไทยที่ผลิตขึ้นมาเพื่อจับตลาดต่างจังหวัดโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ เป็นการดันตลาดให้โตด้วยคอนเทนต์โลคอล

ให้นึกถึงหนังไทย Tier 2 ได้แก่ หอแต๋วแตก, ส่ม ภัค เสี้ยน, ตุ๊ดตู่กู้ชาติ, ผู้สาวขาเลาะ, ไทบ้านเดอะซีรีส์, หลวงพี่แจ๊ส, ไบค์แมน ศักรินทร์ตูดหมึก, โนราห์ เป็นต้น

หนังเหล่านี้จะมีลายเซ็นของผู้กำกับชัดเจนอย่าง พจน์ อานนท์, ยอร์ช ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ มีการกำหนดโพซิชั่นตัวเอง หรือเซ็กเมนต์คนดูชัดเจน

นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า

“หนัง Tier 2 จะเข้ามาตอบโจทย์คนต่างจังหวัด เป็นหนังที่มีเซ็กเมนต์ของเขา มีการเคลียร์เซ็กเมนต์ชัดเจน และไม่สนใจคนนอกเซ็กเมนต์ ที่เห็นว่ามีกระแสบนโลกออนไลน์ที่ไม่ชอบใจหนังบางเรื่อง แต่คนที่ชอบหนังก็มีเยอะ อย่างหอแต๋วแตกสามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 100 ล้านทุกภาค เป็นหนังที่เคลียร์ว่าตลาดคือใคร จับกลุ่มวัยรุ่นต่างจังหวัดโดยเฉพาะ”

จิ๊กซอว์สำคัญในการดึงลูกค้าต่างจังหวัด

การที่มีหนังไทย Tier 2 เข้าฉายอย่างต่อเนื่อง ตอบรับกับยุทธศาสตร์ของเมเจอร์ฯ ที่บุกตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น ด้วยการขยายโรงหนังไปกับเทสโก้ โลตัส หรือบิ๊กซี เป็นโรงเล็กลงที่เจาะตามอำเภอ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น อีกทั้งยังขยายโอกาสในการเติบโต

ซึ่งการขยายเข้าสู่ตลาดต่างจังหวัด จำเป็นต้องมีคอนเทนต์ที่เข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้ด้วย จึงต้องมีคอนเทนต์ที่เป็นหนังไทย Tier 2 เพิ่มมากขึ้น เพื่อเจาะตามกลุ่มที่สนใจ

ในปี 2561 นี้ภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ มีหนังไทยทั้งหมด 43 เรื่อง ล้วนเป็นหนังไทย Tier 2 ถึง 30 เรื่อง และสามารถสร้างรายได้ค่อนข้างดี แต่ละเรื่องมีการลงทุนทำโปรดักชั่นที่ดีขึ้น สามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 50 ล้านได้

ในเครือเมเจอร์เองก็มีผลิตหนังไทยออกมาอยู่ตลอด และได้หาโมเดลใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยในปี 2561 เมเจอร์ได้ร่วมกับ “เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์” ร่วมทุนในการผลิตหนังเรื่อง “ไบค์แมน ศักรินทร์ตูดหมึก” สามารถทำรายได้รวมกว่า 142 ล้านบาท และยังมีภาพยนตร์ที่ผลิตเองอย่าง “โนราห์” และ “ขุนบันลือ” ที่เจาะเซ็กเมนต์จัดเจนมากขึ้น เข้าถึงกลุ่มคนต่างจังหวัดได้อย่างดี

วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า

“การทำภาพยนตร์สมัยนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นค่ายหนัง ไม่ต้องทำคนเดียว ชวนๆ พาร์ทเนอร์กันทำ มีผู้กำกับเปิดบริษัท หรือเสนอโปรเจ็คต์มา ก็ลองไปคุยกับพาร์ทเนอร์อื่นๆ ว่าสนใจมั้ย ถ้าสนใจก็ร่วมลงขันกัน ตอนนี้มีสื่อเยอะทุกช่องทาง ต้องพยายามทำให้เข้าถึงทุกช่องทาง และยิ่งมีบิ๊กดาต้าในการทำตลาด สามารถดูได้ว่าคนกลุ่มไหนดูเยอะ แล้วทำหนังที่เจาะแบบ Personalize ได้”

กลายเป็นว่าทิศทางหนังไทยในยุคต่อไปจะไม่ได้ทำออกมาเป็น “แมส” เสมอไป ที่ทำออกมาเรื่องเดียวแล้วจับกลุ่มผู้ชมทั่วประเทศ อาจจะมีออกมาแต่น้อยมาก แนวโน้มต่อไปจะเจาะเซ็กเมนต์เฉพาะกลุ่มด้วยซ้ำ

อย่างเช่น นาคี หรือโนราห์ ที่เจาะกลุ่มคนอีสาน และคนใต้โดยเฉพาะ เป็นการการันตีได้ว่าเมื่อผลิตหนังออกมาแล้วจะมีกลุ่มลูกค้าดูอย่างแน่นอน

เกาหลีโมเดล ขยายฐานด้วยหนังโลคอล

ถ้าถามว่าตลาดประเทศไหนที่ที่เมเจอร์มองเป็น Role model ในการทำตลาดมากที่สุด วิชาบอกว่าประเทศเกาหลี เพราะมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ซึ่งเกาหลีใช้โมเดลขยายตลาดด้วยภาพยนตร์โลคอลทำให้ตลาดเติบโตอย่างมาก ซึ่งตอนนี้เกาหลีมีโรงภาพยนตร์รวม 2,000 โรง ในไทยมีเพียงพันนิดๆ เท่านั้น

“ที่ประเทศเกาหลีสมัยก่อนมีส่วนแบ่งของหนังโลคอลไม่ถึง 10% จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ ทำโรงภาพยนตร์ไปต่างจังหวัด และลุกขึ้นมาทำหนังเกาหลีแบบจริงจัง มีการทุ่มทุนสร้างจนหนังเป็นที่ยอมรับ จนถึงปัจจุบันมีสัดส่วนของหนังโลคอล 60% แล้ว”

ในประเทศไทยตอนนี้มีส่วนแบ่งของคอนเทนต์หนังไทยเพียง 26% คาดว่าในสิ้นปีจะมีส่วนแบ่ง 25-30% เพราะในปีนี้มีหนังไทยที่สร้างรายได้ดีหลายเรื่องอย่าง นาคี 2, โฮมสเตย์, ไบค์แมน เป็นต้น โดยที่ตั้งเป้าอยากเห็นสัดส่วนหนังไทยขึ้นไปถึง 35-40%

ภาพจาก Shutterstock

จึงเป็นเหตุผลที่ทางเมเจอร์ได้ร่วมทุนกับ “ซีเจ อีแอนด์เอ็ม (CJ E&M)” ยักษ์ใหญ่ด้านความบันเทิงจากประเทศเกาหลีในการเปิดตัว “ซีเจ เมเจอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์” ในการผลิตคอนเทนต์ โดยมีภาพยนตร์ออกมาแล้ว 1 เรื่อง “20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น” เป็นการนำโนวฮาวจากเกาหลีมาปรับใช้ในไทย

ที่เกาหลีมีหนังโลคอลฉายปีละ 200 กว่าเรื่องต่อปี ในขณะที่ไทยในปีที่ผ่านมามีหนังไทยเพียง 43 เรื่อง แต่ก็เห็นทิศทางที่ดีในการเติบโตมากขึ้น การที่จะขยายตลาดมากขึ้น จำเป็นต้องใช้หนังไทยในการบุกตลาด ซึ่งในปีหน้ามีการวางแผนว่าจะมีหนังไทยจากการผลิตในเครือเมเจอร์เอง 20 เรื่อง

ปัจจุบันเมเจอร์มีสาขารวมทั้งหมด 160 สาขา 771 โรงภาพยนตร์ 176,435 ที่นั่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 43 สาขา 349 โรง 79,003 ที่นั่ง สาขาต่างจังหวัด 110 สาขา 385 โรง 89,402 ที่นั่ง และสาขาต่างประเทศ 7 สาขา 37 โรง 8,030 ที่นั่ง ในปีหน้ายังคงขยายสาขาในจำนวนราว 70 โรง และเน้นที่ต่างจังหวัดเช่นเคย ตั้งเป้ารายได้เติบโต 5-10%

สรุป

หนังไทย Tier 2 ที่หลายคนไม่ค่อยชอบใจมากนัก แต่กลับเป็นหนังในดวงใจของคนบางกลุ่ม ซึ่งการเดินเกมเจาะเซ็กเมนต์ของเมเจอร์น่าสนใจไม่น้อย เพราะต้องอาศัยการเติบโตจากทั่วประเทศ ตลาดต่างจังหวัดมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา