5 เรื่องที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปี 2019 จาก TMB Analytics

ปีหน้าเศรษฐกิจไทยถือว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี TMB Analytics มีข้อแนะนำเกี่ยวกับผู้ประกอบการไทยให้รับมือกับเศรษฐกิจปีหน้าด้วย

ภาพจาก Unsplash

ใกล้จะหมดสิ้นปีนี้เข้าไปทุกขณะ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาถือว่าน่าผิดหวังไม่ใช่น้อย ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดีในปี 2019 ข้างหน้ายังมีความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ไม่น้อย สำหรับในปีหน้า TMB มองว่าเศรษฐกิจไทย GDP จะเติบโตได้ 3.8% แต่ถ้าเป็นในกรณีที่แย่ที่สุดจะอยู่ที่ 3.5%

Brand Inside รวบรวมสิ่งที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปีหน้าจาก TMB Analytics

1. เศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณชะลอตัว

TMB Analytics ได้กล่าวถึงราคาน้ำมันล่วงหน้าและดัชนีการผลิต ซึ่ง 2 ดัชนีมักจะไปในทางเดียวกัน ได้ตกลงอย่างหนักในช่วงกลางไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะดัชนีการผลิตที่ตกลงจากจุดสูงสุดมาแล้วถึง 20% เป็นสัญญาณเตือนภัยเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่สภาวะชะลอตัวลง นอกจากนี้ดัชนี OECD Leading Indicators ส่งสัญญาณเตือนว่าโลกกำลังเข้าสู่สภาวะชะลอตัว หลังจากผ่านจุดสูงสุดของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ของปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ในปีหน้าเราจะเห็นเศรษฐกิจของจีนเริ่มที่จะชะลอตัวเช่นกัน โดยปัจจัยสำคัญที่ TMB Analytics เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมาจาก มาตรการที่จีนเริ่มเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนจะยังกดดันเศรษฐกิจจีนต่อไป ยังรวมไปถึงดัชนีหุ้นในประเทศจีนที่ตกลงมาทำให้ความมั่งคั่งของชาวจีนลดลง อาจทำให้กระทบกับการท่องเที่ยวของไทย

เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวในปีหน้า – ภาพจาก Pixabay

2. ข้าวและมันสำปะหลังที่ยังรอด ส่วนยางพาราเละเทะ

ความหวังของเศรษฐกิจไทยอีกเรื่องคือหวังว่ากลุ่มภาคเกษตรจะกลับมาโตอีกครั้ง จะทำให้การบริโภคในประเทศนั้นเติบโตขึ้น แต่ TMB มองว่ารายได้จากภาคเกษตรในปีหน้าเติบโตต่ำเพียงแค่ 2.5% โดยสินค้าเกษตรที่ราคาจะดีขึ้นในปีหน้าคือ ข้าว กับ มันสำปะหลัง แต่ยางพารา อ้อย ปาล์ม นั้นไม่ฟื้นแน่นอน 

3. ความเสี่ยงปีหน้าที่ต้องจับตามองคือ “สินเชื่อรถยนต์”

TMB Analytics มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าการบริโภคเอกชนขยายตัวจากสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ ซึ่งทำให้สินเชื่อเติบโตอีกรอบ ถึงแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะกลัวปัญหาฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง TMB มองว่าในความเป็นจริงนั้นอสังหาฯ กำลังชะลอตัว แต่ TMB มองว่าสิ่งที่น่ากลัวจริงๆ ในปีหน้าคือสินเชื่อรถยนต์ที่กลับมาเติบโตอีกรอบ

โดยในช่วงปี 2012 สินเชื่อรถยนต์เติบโต 210,000 ล้านบาท แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาสินเชื่อรถยนต์เติบโตอีกครั้ง ทำให้ต้องจับตามองอีกรอบ

เมื่อเทียบ NPL ในแต่ละกลุ่ม จะเห็นว่า NPL กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 3.5% NPL ของบัตรเครดิต 2.5% NPL รถ 1.5% อย่างไรก็ดีการชำระหนี้ของรถที่ช้ากว่ากำหนดของรถยนต์สูงถึง 7% ทำให้ TMB มองว่าสินเชื่อรถยนต์น่าเป็นห่วง

ภาพจาก Unsplash

4. ท่องเที่ยวยังโต ภาครัฐต้องผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน

การลงทุนภาครัฐคิดว่าดีขึ้น แต่ไม่ Active เท่าที่ควร โดยมุมมองของ TMB Analytics มองว่ารัฐต้องการการที่จะให้ภาคการบริโภคเอกชน ภาคการส่งออก รวมไปถึงภาคการลงทุนของเอกชนโต ซึ่งในปีหน้าคาดว่าจะได้เห็นรัฐบาลได้ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูง 3 สนามบิน ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ฯลฯ อย่างไรก็ดีงบลงทุนรัฐบาลกลางยังถือว่าเบิกจ่ายช้ากว่าที่คาด

ส่วนภาคการท่องเที่ยวในปีนี้คาดว่าเลิกหวังว่าในไตรมาส 4 นักท่องเที่ยวชาวจีนจะมาเพิ่มเติม เพราะว่าผ่านช่วง Golden Week ของชาวจีนไปแล้ว คาดว่าในปีหน้านักท่องเที่ยวชาวจีนจะมาประเทศไทยราวๆ 40.2 ล้านคน

5. สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำ

สำหรับผู้ประกอบการไทยต้องรู้และจับตามองในปีหน้า

  1. ค่าเงินบาทผันผวน TMB Analytics มองว่าช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยในแต่ละวันมีความผันผวนสูงขึ้นมาก ผู้ประกอบการไทยควรที่จะหาเครื่องมือใหม่ๆ ในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาทเพิ่มมากขึ้น
  2. เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องหาตลาดใหม่ๆ เพื่อที่จะกระจายความเสี่ยง
  3. ภาคการท่องเที่ยวไทยอ่อนไหว ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวในไทยต้องเน้นลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เช่น Non-Group Tour มากขึ้น และเน้นตลาดคุณภาพมากขึ้น
  4. การย้ายฐานการผลิต โดยเป็นปัจจัยจากสงครามการค้า ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตมาไทย ต้องมีการพัฒนาทักษะแรงงานมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำอื่นๆ จาก TMB Analytics เช่น การสร้างสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ การผลิตสินค้าที่ตอบสนองต่อตลาดและแตกต่าง รวมไปถึงการใช้สิทธิประโยชน์จากภาครัฐ เช่น BOI เป็นต้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ