มองเกม “เมเจอร์ 5.0” กับโจทย์ใหญ่ไม่ให้อุตสาหกรรมโรงหนังถูก Disrupt

ศึกษากลยุทธ์ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาท และอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องข้ามให้ได้ เร่งขยายฐานสู่ต่างจังหวัด ตัวเปลี่ยนเกมของตลาด

ภาพจาก Shutterstock

บุกตลาดต่างจังหวัด เจาะเซ็กเมนต์ย่อยมากขึ้น

ธุรกิจโรงภาพยนตร์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่หลายคนมองว่าจะถูก Digital เข้ามา Disrupt เพราะการเข้ามาของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ อย่าง Netflix และ iflix แม้อาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีผลอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ผู้เล่นใหญ่ในวงการโรงภาพยนตร์ได้ทำการปรับตัวอย่างหนัก มาพร้อมความท้าทายที่ต้องทำให้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ไม่ถูก Disrupt ให้ได้ โดยพบว่าธุรกิจกิจโรงภาพยนตร์ทั่วโลกก็ยังเติบโตได้ดี มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ในประเทศที่มีการถูก Disruption หนักๆ อย่างสหรัฐอเมริกาก็มีการเติบโต 10% มีการผลิตภาพยนตร์มากขึ้น ส่วนในประเทศจีนก็คาดว่าตลาดจะโต 20-30% ปัจจุบันมีจำนวนโรงภาพยนตร์แล้วถึง 50,000 โรง และยังขยายอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งถ้ามองย้อนกลับมาประเทศไทยเองก็ยังมีโอกาส และช่องว่างทางธุรกิจในการเติบโตอีกมาก โดยยุทธศาสตร์ของเมเจอร์คือการบุกตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น เชื่อว่าตลาดต่างจังหวัดจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่ทำให้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตรืเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้แผนการลงทุนของเมเจอร์ได้ขยายโรงภาพยนตร์ตามต่างจังหวัด เมืองรองมากขึ้น ไปถึงการเจาะตามอำเภอต่างๆ จากเดิมที่ขยายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ เพราะเป็นกลุ่มคนมีกำลังซื้อ มีไลฟ์สไตล์เสพความบันเทิง

แต่ก็พบว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดยังมีโอกาสในการทำตลาดอีกมาก เพราะต้องบอกว่าเมื่อพฤติกรรมการเสพดิจิทัลได้แพร่หลาย เป็นการขยายความเป็นเมืองให้กว้างขึ้น คนต่างจังหวัดมีการเสพคอนเทนต์แบบเดียวกันกับคนในเมือง

จากเดิมที่มักจะขยายสาขากับศูนย์การค้าใหญ่ๆ อย่างเซ็นทรัล หรือเดอะมอลล์ ก็เริ่มขยายไปพร้อมกับไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, โรบินสัน และท็อปส์มากขึ้น ซึ่งทั้ง 4 แบรนด์นี้ก็มีกลยุทธ์เดียวกันคือสร้างดมเดลใหม่ๆ และเจาะเมืองรองมากขึ้น เป็นการขยายฐานลูกค้า

Photo : Shutterstock

การขยายไปยังเมืองรอง ระดับอำเภอสามารถไปในโมเดลระดับเล็กลง อาจะจแค่ 1-2 โรง/สาขา ทำให้งบลงทุนในแต่ละปีลดลง 20% เหลือราว 700-800 ล้านบาท จากปกติมีการลงทุนเฉลี่ยปีละ 1,000-1,200 ล้านบาท

ในปีนี้เมเจอร์มีการขยายโรงภาพยนตร์รวม 96 โรง แบ่งเป็นต่างประเทศ 2 สาขา ในกรุงเทพฯ 2 สาขา ที่เหลืออยู่ในต่างจังหวัดทั้งสิ้น

นอกจากการบุกตลาดต่างจังหวัดแล้ว เมเจอร์ยังเดินกลยุทธ์ในการสร้างโรงภาพยนตร์เจาะตามกลุ่มแต่ละเซ็กเมนต์มากขึ้น ทั้งกลุ่มเด็ก ได้ผุดโรงภาพยตร์ KODOMO Kids Cinema หวังขยายฐานกลุ่มเด็กให้มากขึ้น รวมถึงโรงภาพยนตร์ Dell Gaming Esports Cinema เป็นโรงภาพยนตร์ Esport แห่งแรกอีกด้วย

วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า

“ความท้าทายที่สุดในตอนนี้คือ โลกเป็นดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ต้องทำอย่างไรให้ทีมงานสนุกกับการเปลี่ยนแปลง สามารถเข้าใจ และเปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปธรรมได้ รวมถึงทำให้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ไม่โดน Disrupt ในช่วง 3 ปีก่อนเป็นประเด็นที่คุยกันเยอะว่าจะได้รับผลกะรทบหรือไม่ แต่ปัจจุบันก็พบว่าในหลายประเทศยังขยายโรงอย่างต่อเนื่อง สตูดิโอก็ยังทำหนังดีๆ ออกมา เชื่อว่าช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมโตได้”

ตามรอยเกาหลี ขยายฐานด้วยหนังโลคอล

ถ้าถามว่าตลาดประเทศไหนที่ที่เมเจอร์มองเป็น Role model ในการทำตลาดมากที่สุด วิชาบอกว่าประเทศเกาหลี เพราะมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ซึ่งเกาหลีใช้โมเดลขยายตลาดด้วยภาพยนตร์โลคอลทำให้ตลาดเติบโตอย่างมาก ซึ่งตอนนี้เกาหลีมีโรงาภพยนตร์รวม 2,000 โรง ในไทยมีเพียงพันนิดๆ เท่านั้น

“ที่ประเทศเกาหลีสมัยก่อนมีส่วนแบ่งของหนังโลคอลไม่ถึง 10% จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ ทำโรงภาพยนตร์ไปต่างจังหวัด และลุกขึ้นมาทำหนังเกาหลีแบบจริงจัง มีการทุ่มทุนสร้างจนหนังเป็นที่ยอมรับ จนถึงปัจจุบันมีสัดส่วนของหนังโลคอล 60% แล้ว”

ในประเทศไทยตอนนี้มีส่วนแบ่งของคอนเทนต์หนังไทยเพียง 26% คาดว่าในสิ้นปีจะมีส่วนแบ่ง 25-30% เพราะในปีนี้มีหนังไทยที่สร้างรายได้ดีหลายเรื่อง อย่าง นาคี 2, โฮมสเตย์, ไบค์แมน เป็นต้น โดยที่ตั้งเป้าอยากเห็นสัดว่วนหนังไทยขึ้นไปถึง 35-40%

จึงเป็นเหตุผลที่ทางเมเจอร์ได้ร่วมทุนกับ “ซีเจ อีแอนด์เอ็ม (CJ E&M)” ยักษ์ใหญ่ด้านความบันเทิงจากประเทศเกาหลีในการเปิดตัว “ซีเจ เมเจอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์” ในการผลิตคอนเทนต์ โดยมีภาพยนตร์ออกมาแล้ว 1 เรื่อง “20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น” เป็นการนำโนวฮาวจากเกาหลีมาปรับใช้ในไทย

ที่เกาหลีมีหนังโลคอลฉายปีละ 200 กว่าเรื่องต่อปี ในขณะที่ไทยในปีที่ผ่านมามีหนังไทยเพียง 43 เรื่อง แต่ก็เห็นทิศทางที่ดีในการเติบโตมากขึ้น การที่จะขยายตลาดมากขึ้น จำเป็นต้องใช้หนังไทยในการบุกตลาด ซึ่งในปีหน้ามีการวางแผนว่าจะมีหนังไทยจากการผลิตในเครือเมเจอร์เอง 20 เรื่อง

ปัจจุบันเมเจอร์มสาขารวมทั้งหมด 160 สาขา 771 โรงภาพยนตร์ 176,435 ที่นั่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 43 สาขา 349 โรง 79,003 ที่นั่ง สาขาต่างจังหวัด 110 สาขา 385 โรง 89,402 ที่นั่ง และสาขาต่างประเทศ 7 สาขา 37 โรง 8,030 ที่นั่ง

ในปีหน้ายังคงขยายสาขาในจำนวนราว 70 โรง และเน้นที่ต่างจังหวัดเช่นเคย ตั้งเป้ารายได้เติบโต 5-10%

สรุป

ถือเป็นการปรับตัวของเมเจอร์อยู่ตลอดเวลาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งการผุดโมเดลใหม่ๆ ก็ช่วยสร้างสีสันให้ตลาด และมีการเจาะเซ็กเมนต์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ต้องจับตามองดูต่อไปว่าการผลักดันหนังไทยให้มากขึ้นนั้น จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมหนังไทยเติบโตขึ้นตามประเทศเกาหลีได้หรือไม่ แต่จากปีที่ผานมาก็พบว่ามีส่วนช่วยได้เยอะเลยทีเดียว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา