ขายแบรนด์เดียวยังเหนื่อย แล้ว Groove & Groovy ที่เป็นร้าน Multi – Brand ต้องปรับอะไรบ้าง

เศรษฐกิจซบ กำลังซื้อหดหาย เป็นข้อความที่พบเจอกันมาทั้งปี โดยเฉพาะคนทำธุรกิจที่เหนื่อยกันทุกคน ถึงจะเป็นคนขายสินค้าแค่แบรนด์เดียวก็ตาม แล้วถ้าเป็นคนขายหลายแบรนด์ หรือร้าน Multi – Brand จะหนักกว่าแค่ไหน ลองฟังความเห็นจาก Groove & Groovy ผู้ที่ถือสินค้า 7 แบรนด์ และมีร้านของตัวเอง 8 สาขากัน

รอนนี่ โกรเวอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอนนี่ อินเตอร์ - เทรดดิ้ง จำกัด เจ้าของร้าน Groove & Groovy
รอนนี่ โกรเวอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอนนี่ อินเตอร์ – เทรดดิ้ง จำกัด เจ้าของร้าน Groove & Groovy

รัดเข็มขัด และเฝ้ารอรอสัญญาณดีปีหน้า

รอนนี่ โกรเวอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอนนี่ อินเตอร์ – เทรดดิ้ง จำกัด เจ้าของร้าน Groove & Groovy เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ร้าน Multi – Brand ค่อนข้างทำตลาดยาก จากเดิมที่ไม่ต้องใช้การวิเคราะห์ตลาดมากในการเลือกแบรนด์ต่างๆ เข้ามาทำตลาดภายในร้าน เพราะปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มศึกษาหาข้อมูลสินค้ามากขึ้น รวมถึงเทรนด์แฟชั่นค่อนข้างเปลี่ยนเร็ว ที่สำคัญสินค้า Pre – Order จากโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมของร้าน Multi – Brand เช่นกัน จนเหลือร้าน Multi – Brand ที่สามารถทำตลาดได้อยู่เพียงไม่กี่ร้าน

“ก่อนหน้านนี้ร้าน Multi – Brand มันกระจายออกมาเยอะ เพราะจะให้แบรนด์สินค้าลงมาทำตลาดเองก็ใช่เรื่อง และยิ่งเป็นแบรนด์ที่คนไทยไม่รู้จัก การนำสินค้ามาวางไว้รวมกันเพื่อดึงดูดก็เป็นได้ แต่ตอนนี้ลูกค้าไม่ได้ซื้อแต่หน้าร้าน พอเห็นในออนไลน์ก็ตัดสินใจซื้อเลย ประกอบกับเศรษฐกิจซบ กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ก็ทำให้ร้านแบบเราๆ เหนื่อยพอสมควร ใครไม่มีคาแร็คเตอร์ชัดเจนก็จะเหนื่อยกว่าคนอื่น นี่ก็เหลืออีกแค่ 2 เดือนกว่า คงต้องลุ้นปีหน้าว่าทุกอย่างจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิมหรือไม่”

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

เจรจาแบรนด์ช่วยงดขายยกล็อตกับคนอื่น

ขณะเดียวกัน ร้านมัลติแบรนด์ต่างๆ จำเป็นต้องคุยกับเจ้าของแบรนด์ที่มีร้านค้าในต่างประเทศ เพื่อช่วยให้แบรนด์กำหนดการขายสินค้าทีละมากๆ หรือยกล็อต ให้กับผู้ซื้อจากประเทศที่มีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย เพราะการนำเข้ามา สินค้าจะเข้ามาแข่งกับตัวแทนจำหน่ายโดยตรง ซึ่งบางแบรนด์เริ่มมีมาตรการนี้แล้ว ทำให้ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยสามารถทำตลาดได้ง่ายขึ้น แต่แบรนด์ส่วนใหญ่ยังไม่กำหนดมาตรการนี้ ดังนั้นการปรับตัวของผู้ค้ามัลติแบรนด์ก็จำเป็นเช่นกัน

หนึ่งทางออกคือการเปิดช่องทางใหม่ โดยเฉพาะออนไลน์ เพราะมีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับการขยายหน้าร้าน นอกจากนี้เทรนด์ผู้บริโภคยังขยับไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งวิธีจำหน่ายออนไลน์เบื้องต้นอาจใช้การฝากสินค้าไว้กับแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพรสต่างๆ แต่สุดท้ายแล้วเพื่อผลกำไรสูงสุด การสร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเองเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดย รอนนี่ อินเตอร์ – เทรดดิ้ง มีการจัดตั้งเว็บไซต์ groovegroovy.com เพื่อจำหน่ายสินค้าทั้งหมดของแบรนด์แล้ว และคิดเป็นยอดขาย 30% ของบริษัท ผ่านการจัดแคมเปญลดราคาต่อเนื่อง

นาฬิกา Daniel Wellington รุ่น Classic Black
นาฬิกา Daniel Wellington รุ่น Classic Black

อ่านเทรนด์แฟชั่นให้เป็นก็สำคัญ

รอนนี่ ย้ำว่า ตอนนี้ผู้บริโภคยุคใหม่ใส่ใจกับเรื่องแฟชั่นมากขึ้น สังเกตจากค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจะหมดไปกับเรื่องแฟชั่นถึง 30% ของทั้งหมด ดังนั้นร้าน Multi – Brand ที่จำหน่ายสินค้าแฟชั่นจึงยังพอเติบโตได้ แต่ต้องอ่านเทรนด์แฟนชั่นให้เป็น เพื่อนำสินค้าเข้ามาได้ตรงใจผู้บริโภค เพราะถ้านำสินค้าเข้ามา แล้วกระแสเปลี่ยนเร็ว โอกาสที่จะขาดทุนก็มีสูง นอกจากนี้ยังต้องสร้าง Character ของร้านให้ชัดเจน ไม่ใช่แค่ร้านรวมสินค้าเท่านั้น เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามายังร้านอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ Groove & Groovy วาง Position เป็นร้านของครอบครัว หรือเมื่อเข้ามาพ่อ, แม่ และลูก จะได้สินค้าติดมือกลับบ้านทุกคน ผ่านสินค้าเช่น Calvin Klein Jeans, Victoria และ Hey Dude แต่สินค้าที่สร้างรายได้ให้บริษัทสูงที่สุด หรือ 30% ของรายได้ คือนาฬิกา Daniel Wellington (DW) จึงนำเข้านาฬิการุ่นใหม่ Classic Black ที่ราคา 6,250 – 8,250 บาท มาจำหน่ายเพิ่ม ผ่านจุดเด่นหน้าปัดสีดำ และถือเป็นการออกรุ่นใหม่หลังจากทำตลาดรุ่นเก่าที่มีหน้าปัดสีขาวเป็นเวลา 5 ปี แต่ขายได้กว่า 1 ล้านเรือนทั่วโลก

สรุป

ร้าน Multi – Brand ต้องสร้าง Character ชัดเจน เพื่อดึงดูดผู้บริโภคในยุคนี้ และถึงจะจำหน่ายสินค้าราคาแพง แต่ก็ขายได้ เพราะสินค้านั้นมีเอกลักษณ์ และส่งเสริมบุคลิกภาพให้กับลูกค้า แต่ก็ต้องวางแผนช่องทางใหม่ๆ ไว้เช่นกัน เพราะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่เติบโตเร็วขนาดนี้ ก็เพราะนำเข้าสินค้าอย่างผิดกฎหมายมาขายแข่งในราคาถูกนั่นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา