ศึกษาวิธีแกะสลักไม้เป็นช้างกับ “ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม” พร้อมเทคนิคการคิดสร้างสรรค์แจ่มๆ

“ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม” คือหนึ่งคนบันเทิงที่สร้างสรรค์งานสำคัญๆ ไว้มากมาย เช่นคอนเสิร์ต Big Mountain และงาน Hot Wave Music Arward แต่กว่าจะถึงจุดนี้มันไม่ง่ายเลย แล้วช้างมันจะเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้บ้างล่ะ?

ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม // ภาพจาก Facebook ส่วนตัว

ประสบการณ์ 30 ปี กับชีวิตที่ต้องคิดตลอดเวลา

ปัจจุบัน “ยุทธนา บุญอ้อม” หรือ “ป๋าเต็ด” นั้นอยู่ในวงการบันเทิงมานานกว่า 30 ปี โดยเริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงเป็นนักจัดรายการ (ดีเจ) ให้กับคลื่นวิทยุของเครือ Atime ผลงานเด่นๆ ช่วงนั้นก็น่าจะเป็นการเล่นเกมในรายการวิทยุพร้อมแทรกเนื้อหาของสปอนเซอร์ต่างๆ เข้าไปด้วย ซึ่งวิธีดังกล่าวก็ยังได้รับควมนิยมมาถึงปัจจุบัน

แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่หน่อยก็น่าจะรู้จัก “ป๋าเต็ด” ในฐานะผู้จัดงานคอนเสิร์ตต่างๆ โดยเฉพาะกับงาน Big Mountain หรือ “มันใหญ่มาก” ที่เป็นหนึ่งในงานเทศกาลดนตรีที่วัยรุ่นยุคนี้อยากไป แต่กว่าจะปั้นงานต่างๆ ให้โด่งดังถึงจุดนี้ได้มันไม่ง่ายเลย เพราะชายวัย 50 ปีคนนี้ต้องคิดอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ออกมา

“ตอนนี้ผมมาอยู่ในฐานะผู้จัดงานอีเวนท์มากขึ้น และอยากให้เปรียบงานอีเวนท์เหมือนการที่พระธิเบตมารวมกันเพื่อโรยทรายสีต่างๆ เพื่อสร้างมันดาลา ซึ่งมันใช้สมาธิสูงมากกว่างานจะเสร็จเป็นรูปเป็นร่าง แต่สุดท้ายตัวงานศิลปะนั้นมันก็ถูกรื้อทิ้ง เช่นกันกับงานอีเวนท์ที่เราต้องทุ่มมันเต็มที่ แต่สุดท้ายพองานจบมันก็โดนรื้ออยู่ดี” ป๋าเต็ด กล่าว

Creative ที่ดีต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้

อย่างไรก็ตามเมื่อการทำงานอีเวนท์ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creative ที่สูงมาก แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ยากหากคิดแบบป๋าเต็ด เพราะเขามองว่าใครๆ ก็เป็น Creative ได้ เช่นเวลามาทำงานสาย ก็ต้องหาเหตุผลมาอธิบาย แค่นั้นก็ Creative แล้ว แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้าความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่แก้ป้ญหา แต่สร้างแรงบันดาลใจได้

Creative นั้น ยิ่งคิดไปถึงจุด B ได้มุมกว้างเท่าไรยิ่งดี

“ผมคิดว่า Creative ที่ดีต้องสร้างแรงบันดาลใจได้ด้วย เช่นเวลาเห็นอะไรที่เจ๋งมากๆ แล้วเกิดคำอุทานในใจ นั่นแหละคือความคิดสร้างสรรค์ที่สร้างแรงบันดาลใจ โดยคนที่คิดทื่อๆ หากได้โจทย์อะไรมาสักอย่าง คำตอบของเขาก็คือ A แต่ถ้าเขาคิดแบบสร้างสรรค์ คำตอบของสิ่งนั้นก็คือ B”

อย่างไรก็ตามการคิดแบบ Creative ได้นั้น “ป๋าเต็ด” แนะนำให้สมมติตัวเองเป็นแก้วน้ำที่ถูกเติมน้ำเต็มแก้ว โดยน้ำนั้นแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ Is, Because และ I ซึ่งทั้ง 3 ส่วนก็มาจากวิถีชีวิตของแต่ละคน โดยเวลาจะคิด Creative นั้น ต้องเอาน้ำทั้ง 3 ส่วนออกไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

แนวคิดแบบ Is, Because และ I

Is, Because และ I กับวิธีง่ายๆ ในการคิดสร้างสรรค์

“ตอนเราเด็กๆ ทุกคนก็จะไม่คิดอะไร แต่พอโตขึ้นระดับหนึ่งก็จะถูกสอนว่าสิ่งนี้คืออะไร สิ่งนั้นคืออะไร ซึ่งก็คือ Is นั่นเอง พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็จะถูกสอนเรื่องเหตุผลต่างๆ เช่นทำแบบนี้ไม่ได้เพราะอะไร หรือ Because สุดท้ายพอเราโตมากขึ้น มันก็จะมีความเป็นตัวเรามากกว่าเดิม หรือ I ซึ่งถ้าเราเอาสิ่งเหล่านี้ออกไม่ได้ มันก็ยากที่จะสร้างสรรค์”

เมื่อทั้ง 3 เรื่องเข้ามาในชีวิตของทุกคน ตัวน้ำมันก็จะเต็มแก้วโดยไม่รู้ตัว และตีกรอบความคิดสร้างสรรค์ เช่นถ้าเห็นเก้าอี้เป็นเก้าอี้ มันก็ต้องเอาไว้นั่ง เอาไปทำอย่างอื่นไม่ได้ แต่ถ้าคิดแบบค่อยๆ ถอด Is, Because และ I ออก เก้าอี้มันอาจเป็นเวทีคอนเสิร์ต เพราะไม่ต้องมีไว้นั่งก็ได้เหมือนกัน

ช้างไม้แกะสลัก

“พอเอาแนวคิดนี้มาปรับใช้ ทุกคนก็น่าจะเห็นภาพว่า Creative ไม่ใช่การเพิ่มเติมอะไรเข้าไป แต่เป็นการถอดออกจนเหลือแต่แก่นแท้ของมันก็ดีที่สุด คล้ายกับเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่มีช่างแกะสลักช้างจากไม้ได้สวยมาก แล้วมีคนไปถามว่าต้องใช้วิธีไหน ช่างคนนั้นก็เพียงบอกว่าแกะทุกอย่างที่ไม่ใช่ช้างออกจากไม้ท่อนนั้น ก็จะได้ช้างที่สวยเอง”

Possibility Within Context คือนิยามความคิดสร้างสรรค์

ตัวอย่างที่น่าสนใจในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยการดึงออกก็มีงานเพลง ที่ปกติแล้วจะใส่ Track เสียงเข้าไปเยอะๆ แต่สุดท้ายศิลปินก็จะดึง Track เหล่านั้นออกเพื่อเหลือสิ่งที่ต้องการที่สุด รวมถึง Spot วิทยุที่ดีๆ มักมีแค่เสียงพูด ไม่ต้องมีเสียงประกอบ เพราะมันสื่อได้แค่นั้นจริงๆ

Bad Idea ของป๋าเต็ด

“ช่วงแรกที่ตัดสิ่งต่างๆ ออกไปมันอาจจะดูเป็น Bad Idea ซึ่งมันก็ปกติอยู่แล้ว ไม่ต้องตกใจไป เพราะ Idea ที่ดูเจ๋งๆ บ้าๆ ไม่ได้รับการยอมรับทันทีอยู่แล้ว เช่นพี่น้องตระกูล Wright ที่ออกแบบเครื่องบิน หรือ Galileo ที่บอกว่าโลกกลมก็ไม่ได้ถูกยอมรับในทันที และถูกมองว่าเป็น Bad Idea ตั้งแต่แรกเห็นอยู่แล้ว”

ขณะเดียวกันเมื่อมองในงานที่ต้องความคิดสร้างสรรค์นั้น ปกติแล้วต้องมีเรื่องข้อจำกัดอยู่แล้ว และอยากให้ทุกคนมองว่า “ข้อจำกัด” คือของขวัญจากพระเจ้า เพราะมันช่วยตีกรอบให้งานของเรา ประกอบกับต้องจำไว้เลยว่า Bad Idea ไม่มีอยู่จริง เพียงแค่มาผิดเวลาเท่านั้น

สรุป

เมื่อลองมาดูงานเด่นๆ ของ “ป๋าเต็ด” ก็จะพบว่าส่วนใหญ่เป็น Bad Idea และมาพร้อมกับข้อจำกัดทั้งสิ้น เช่น Fat Festival ที่จัดเพราะอยากพิสูจน์ว่ามีคนฟังวิทยุคลื่นนี้จริงๆ หรืองาน Big Moutain ที่เริ่มจากแค่คอนเสิร์ต Lula จนกลายเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ส่วนเนื้อหาเต็มๆ งาน Bad Idea ของป๋าเต็ด จะมาเล่าให้ฟังอีกรอบนะครับ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา