ก่อนหน้านี้ Digital Ventures (ดิจิทัล เวนเจอร์ส) หรือ DV ได้ประกาศลงทุนใน Ripple ซึ่งเป็น FinTech Startup ที่เชี่ยวชาญด้าน Blockchain คลิกอ่านได้ที่นี่
ถ้ากันตามจริง Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่เริ่มมีการใช้งานกันมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและเริ่มแพร่หลายมากขึ้น แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในวงกว้าง และด้วยการเป็นเทคโนโลยีทางการเงิน (ทั้งเทคโนโลยีและการเงิน) ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ยาก ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทั่วโลกรวมถึงคนไทยไปโดยปริยาย
แต่ DV และ SCB ต้องสนใจ และลงทุนในทันทีที่มีโอกาส เพราะเชื่อกันว่า Blockchain คือ The Next Internet ถ้าไม่สนใจ ก็อาจจะโดน Disrupt ได้ ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท ต้องลงไปทำความรู้จักกันให้ดี
ครั้งนี้ DV เลยชวน Brand Inside มาเปิดบ้าน ออฟฟิศแห่งใหม่ใกล้กับแยกช่องนนทรี พร้อมกับอธิบายเรื่องของ Blockchain ไปในตัว
ก่อนอื่นขอเปิดบ้านหลังใหม่ของ DV ในสไตล์ Co-Working Space
เดิม DV มีออฟฟิศอยู่ที่อาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ แยกรัชโยธิน แต่ ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร ของ DV มีแนวคิดว่า DV ต้องหลุดออกจากธรรมชาติและวิสัยของธนาคาร ดังนั้น ต้องแยกตัวออกมาอย่างชัดเจน เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กร และรูปแบบการทำงานที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง จึงเปิดเป็นออฟฟิศแห่งใหม่ใกล้แยกช่องนนทรี เดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้า
ขณะที่บรรยากาศในการทำงาน จะใช้สไตล์เดียวกับ Co-Working Space คือ นั่งทำงานแบบฟรีสไตล์ ใครอยากนั่งตรงไหนก็นั่งได้ ใช้ระบบไวร์เลส และคลาวด์ ในการจัดเก็บข้อมูล บรรยากาศโปร่งสบาย เปิดโล่งเอื้อต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ตามแนวทางของออฟฟิศสมัยใหม่
นอกจากนี้พื้นที่ทำงาน ยังมีห้องประชุมแล็บทดลอง และพื้นที่สำหรับจัดบรรยาย หรือจัดโชว์เคส นำเสนอเทคโนโลยีสมัยใหม่ สำหรับรองรับการนำเสนอบริการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ DV กำลังศึกษา ซึ่งรวมถึง Blockchain ในครั้งนี้ด้วย
และแน่นอนว่าสำหรับ Startup ที่อยากจะเข้ามาพบปะพูดคุยกับ DV สามารถเข้ามาได้ตลอดเวลา
Blockchain เทคโนโลยีแห่งวงการ FinTech ในอนาคต
ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า DV ได้ลงทุนในบริษัท Ripple ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Blockchain ไปแล้ว ดังนั้น ธนา ซึ่งเคยบอกเสมอว่า เทคโนโลยีนี้คือเรื่องใหม่และยากต่อการทำความเข้าใจ ดังนั้นหัวใจสำคัญ นอกจากการลงทุน ต้องมีการศึกษา เพื่อทดลองระบบการโอนเงินข้ามประเทศผ่าน Blockchain ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในการนำเทคโนโลยีนี้มาเชื่อมโยงกับโครงข่ายการทำ Cross Border Payment หรือระบบการโอนเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์ให้เกิดขึ้นจริง
สุวิชชา สุดใจ Managing Director, Digital Products พร้อมทีมงาน Blockchain ของ DV บอกว่า Blockchain คือระบบฐานข้อมูลออนไลน์ ที่ช่วยให้การทำธุรกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่าย โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยอนุญาตให้สมาชิกในระบบสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้น และเมื่อมีการบันทึกข้อมูลเกิดขึ้น จะไม่สามารถลบข้อมูลนั้นได้
Blockchain มี 2 ประเภท คือ Private Blockchain เปรียบเสมือน Intranet ที่จำกัดสิทธิ์เฉพาะคนหรือหน่วยงานที่ได้รับอนุญาต และ Public Blockchain เปรียบเสมือน Internet ที่ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลในระบบได้อย่างเท่าเทียม
เพื่อความเข้าใจ จัดตัวอย่าง Blockchain ไป (ให้งงเพิ่มขึ้น?)
ธนา บอกว่า หลายครั้งที่อธิบายเรื่อง Blockchain แล้วยิ่งงงมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ต้องเข้าใจพื้นฐานของ Blockchain แบบง่ายๆ ในทางการเงิน เช่น เดิม เมื่อมีการโอนเงินเกิดขึ้นระหว่าง A กับ B จะทำผ่านธนาคาร เป็นตัวกลาง ที่ได้รับความน่าเชื่อถือเป็นผู้บันทึก แต่เมื่อมีการใช้ Blockchain ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ธนาคารทำหน้าที่บันทึก แต่จะใช้คนอื่นๆ ช่วยกันตรวจสอบ เช่น A โอนเงินให้ B แต่จะมี C และ D ช่วยกันตรวจสอบและยืนยันว่า ธุรกรรมนี้เกิดขึ้นจริง
ถ้า B จะโกงโดยบอกว่า A ยังไม่ได้โอนเงินให้ ก็ทำไม่ได้ เพราะ C และ D ตรวจสอบและยืนยันการโอนนั้นแล้ว
นี่คือ พื้นฐานของ Blockchain ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆ ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องการเงิน เช่น
Everledger ระบบ Blockchain สำหรับใบรับรองเพชร – เป็นรูปแบบ Blockchain สำหรับทรัพย์สินที่มีราคาสูง เช่น เพชร ที่ปกติจะมีการออกใบรับรอง ซึ่งหากมีการจัดเก็บข้อมูลผ่าน Blockchain ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นของจริงหรือไม่ ใครเป็นคนออกใบรับรอง ซึ่งมีประโยชน์ในด้านประกันภัย ซึ่งต่อปีมีการเคลมประกันกว่า 200 ล้านปอนด์
Wave ระบบ Blockchain สำหรับการค้าและขนส่ง – จากปกติการค้าขายและขนส่งระหว่างประเทศต้องใช้เอกสารตรวจสอบสินค้าจำนวนมากมาย และต้องผ่านการตรวจซ้ำๆ เดิมในทุกขั้นตอน ยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้เวลามาก แต่ Wave ทำให้ทุกอย่างอยู่บน Blockchain ซึ่งคุณสมบัติคือ ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ ดังนั้นข้อมูลในเอกสารทั้งหมดจึงเหมือนกัน และทุกหน่วยงานสามารถเข้าดูเอกสารเดียวกันได้ทั้งหมด
Provenance.org ระบบ Blockchain ด้านห่วงโซ่อาหาร – เป็นระบบจัดเก็บข้อมูลเกษตรกร เพื่อให้ได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตผลการเกษตรที่สามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผู้ซื้อและผู้บริโภค สามารถมั่นใจได้ว่า ข้อมูลทั้งหมดไม่สามารถแก้ไขได้ และเป็นความจริง
Blockchain เทคโนโลยีที่จะปฏิวัติเศรษฐกิจของโลก
สุวิชชา บอกว่า หากจะสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับ Blockchain ง่าย คือคำว่า A-TO-MIC
A – Asset คือสามารถใช้ในการตรวจสอบและรับรองสินทรัพย์ได้
T – Trust เป็นระบบที่เชื่อถือได้ ทุกคนมีส่วนช่วยในการตรวจสอบและยืนยัน
O – Ownership บ่งบอกความเป็นเจ้าของข้อมูล
M – Money มองเห็นธุรกรรม หรือการเงินที่เกิดการเคลื่อนย้าย (ป้องกันการฟอกเงิน)
I – Identity ต้องสามารถระบุตัวตนของสมาชิกได้
C – Contracts เป็นสัญญาผูกพันชัดเจน แก้ไขไม่ได้
นอกจากนี้ ธนา ได้กล่าวสรุปแบบสั้นๆ ง่ายๆ ทุกเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น จะสามารถนำมาใช้ได้ และมีประโยชน์ ต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ Better, Faster และ Cheaper หลายคนเชื่อว่า Blockchain สามารถตอบโจทย์ได้ทั้ง 3 ข้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ DV จะรอดูจากวันนี้ไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา