Kirin เตรียมเปลี่ยนธุรกิจของตัวเอง จากผู้ผลิตเครื่องดื่ม สู่ผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ

เชื่อว่าหลายคนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมกินดื่มน่าจะคุ้นเคยกับเบียร์ Kirin จากญี่ปุ่นกันไม่มากก็น้อย แต่หลังจากนี้ภาพลักษณ์เดิมๆ ของเบียร์แบรนด์นี้จะเปลี่ยนไปแน่ เพราะ CEO ออกมาบอกเองว่า จะมุ่งสู่ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพเต็มที่

Kirin Ichiban เบอร์ 2 ของตลาดเบียร์ที่ญี่ปุ่น

จากผู้ผลิตเบียร์ สู่สินค้าเพื่อสุขภาพ

ด้วยตลาดเบียร์ในญี่ปุ่นนั้นเริ่มไม่เติบโต เนื่องจากประชากรลดลง ประกอบกับผู้อยู่อาศัยที่นั่นก็ตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นแทบจะเป็นเรื่องต้องห้าม จึงไม่แปลกที่ Kirin ผู้ผลิตเบียร์เบอร์สองของญี่ปุ่นต้องคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อรักษาธุรกิจให้เติบโตอยู่

Yoshinori Isozaki ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Kirin Holdings เล่าให้ฟังว่า จากนี้ไปบริษัทเตรียมเดินหน้าลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ป้องกันอาการป่วยในรูปแบบต่างๆ โดยอาศัยกรดแล็กทิก และแบคทีเรียดีที่บริษัทวิจัยคิดค้นขึ้นมาเป็นอาวุธหลักในการทำตลาด

บรรยากาศภายในร้าน Wishbeer

“เราจะก้าวข้ามธุรกิจเบียร์ที่เป็นธุรกิจแรกเริ่ม และธุรกิจหลักของเรา ไปสู่ธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยป้องกันอาการป่วย ซึ่งตัวกรดแล็กทิก และแบคทีเรียดีที่เราคิดค้นขึ้นมานั้น สามารถป้องกันอาการไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ได้”

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้รายได้จากกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ (Healthcare) ของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเยน แต่ถึงอย่างไรแผนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก และต้องติดตามในช่วงปี 2562 ที่ Kirin Holdings จะแถลงแผนธุรกิจระยะกลาง

รายได้ไตรมาส 3 ของ Kirin Holdings

สำหรับ Kirin Holdings นอกจากเบียร์ที่เป็นธุรกิจ และรายได้หลักแล้ว ยังมีธุรกิจน้ำอัดลม, บริษัทขนส่ง, ร้านอาหาร, อสังหาริมทรัพย์, อาหารเสริม, และธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพด้วย โดยถึงไตรมาสที่ 3 ของปีปฏิทินบริษัทนั้นทำรายได้รวมทั้งหมด 1.42 ล้านล้านเยน (ราว 4.12 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนเพียง 4.8%

สรุป

การเปลี่ยนแปลงของ Kirin Holding นั้นถือเป็นสัญญาณสำคัญของผู้ทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อผู้บริโภคใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ก็ไม่แปลกที่ธุรกิจของพวกเขาจะเติบโตได้ลำบาก ดังนั้นคงต้องรอดูว่าจะมีผู้ทำธุรกิจเดียวกันนี้รายไหนปรับตัวกันอีกบ้าง

อ้างอิง // The Japan Times, Kirin

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา