ข้อตกลงการค้าความร่วมมือทรานแปซิฟิก หรือที่เรียกกันในชื่อ TPP (Trans-Pacific Partnership) ระหว่างประเทศฝั่งเอเชียและอเมริกาเหนือ-ใต้ กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันในทุกสังคม ไม่เว้นแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง รวมถึงประเทศไทยที่ยังไม่ได้เข้าร่วม TPP ด้วย
ปัจจุบัน ประเทศในภูมิภาคอาเซียน-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เข้าร่วม TPP มี 4 ประเทศคือ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ บรูไน โดยสิงคโปร์และบรูไนเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้ง TPP ตอนแรกสุด ส่วนมาเลเซียและเวียดนามตามเข้ามาในภายหลัง
ประเทศที่น่าจับตาคือ เวียดนาม ซึ่งเศรษฐกิจกำลังอยู่ในสภาวะขาขึ้น อุตสาหกรรมจำนวนมากย้ายฐานผลิตไปที่เวียดนาม และข้อตกลง TPP ที่ช่วยลดเรื่องกำแพงภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิก น่าจะช่วยผลักดันภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามได้ดียิ่งๆ ขึ้น ดังเช่นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICS) ในเอเชียที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในทศวรรษ 1990s
คำถามคือเวียดนามคิดอย่างไรต่อ TPP? มุมมองของเวียดนามคืออะไรต่อการเข้าร่วมเขตการค้าลักษณะนี้
เรื่องนี้ หนึ่งในผู้นำนักธุรกิจเวียดนาม ประธาน Truong Gia Binh แห่งกลุ่มบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของเวียดนาม FPT Group กล่าวในเวที Nikei Asia300 ที่กรุงเทพ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ในขณะที่หลายประเทศลังเลว่าจะเข้าร่วมเขตการค้าเสรี (FTA) ลักษณะนี้ แต่มุมมองของเวียดนามคือเข้าร่วมทุกเขตการค้าเสรีเท่าที่เป็นไปได้ และปัจจุบัน เวียดนามเป็นสมาชิกข้อตกลงการค้าไปแล้วถึง 19 กลุ่ม
Binh พูดบนเวทีว่า จงอย่ากลัวความร่วมมือหรือเขตการค้าเสรี จงเข้าร่วมทุกเขตการค้า แล้วใช้ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขจากข้อตกลงเหล่านี้ เปลี่ยนตัวเองให้ทันโลก
ทีมงาน Brand Inside มีโอกาสสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากประธาน Binh ว่าอะไรคือเหตุผลต่อมุมมองดังกล่าว ที่จะเข้าร่วมเขตการค้าเสรีอย่าง aggressive ถึงเพียงนี้
คำตอบของ Binh คือเวียดนามเป็นประเทศที่มาช้า (late comer) ในโลกอุตสาหกรรม ดังนั้นเวียดนามก็ต้องทำทุกทางเพื่อให้ตามคนอื่นทัน นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นประเทศที่เน้นการส่งออก จึงต้องวิ่งเข้าหาโครงสร้างต้นทุน (cost structure) ที่ต่ำพอที่จะสามารถทำกำไรได้
Binh ยังพูดถึงภาคธุรกิจในอาเซียนว่า ปัจจุบัน ธุรกิจของแต่ละประเทศยังไม่ค่อยร่วมมือกันเท่าไร ทั้งที่ส่วนใหญ่ก็ทำผลิตภัณฑ์เหมือนๆ กัน มีโครงสร้างต้นทุนคล้ายๆ กัน ถ้าบริษัทใดบริษัทหนึ่งอยากขยายเข้าไปยังประเทศอื่นๆ ก็จะต้องเจอกับคู่แข่งแบบเดียวกัน ทางออกที่มีให้เลือกมีแค่ 2 ทางคือ จะร่วมมือกัน หรือจะแข่งขันกัน ซึ่งด้วยสภาพของบริษัทที่ผลิตภัณฑ์คล้ายคลึงกัน การจะแข่งขันก็ต้องต่อสู้กันอย่างรุนแรง
FPT Group เป็นบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของเวียดนาม ปัจจุบันมีธุรกิจทั้งด้านโทรคมนาคม ซอฟต์แวร์ อีคอมเมิร์ซ ธนาคาร การศึกษา (มีมหาวิทยาลัย FPT University มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของเวียดนาม) รวมถึงธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันมีธุรกิจอยู่ใน 19 ประเทศทั่วโลก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา