ศึกษากลยุทธ์ Omnichannel ของ Target หลังปิดการขายผ่าน Online แถมเพิ่มยอดจับจ่ายในสาขา

ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ อย่าง Target ประสบปัญหาเกี่ยวกับการปิดการขายบนโลก Online เพราะลูกค้าหยิบของใส่ตะกร้า แต่ไม่ชำระเงิน บริษัทจึงใช้วิธีส่งส่วนลดพิเศษไปให้พวกเขา เพื่อมาใช้ซื้อสินค้าตามสาขาต่างๆ แทน

Target // ภาพโดย Mjs92984 (Own work) [CC BY-SA 4.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)], via Wikimedia Commons

ได้ทั้งปิดการขาย และเพิ่มยอดในเวลาเดียวกัน

Target ถือเป็นค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่เปิดจำหน่ายสินค้าบนโลก Online มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ปัญหาหลักๆ ที่ค้าปลีกรายนี้เจอก็คือลูกค้าไม่ยอมตัดสินใจชำระเงินหลังเลือกสินค้าใส่ตะกร้าเอาไว้ ซึ่งปัญหานี้หลายเว็บไซต์ E-Commerce ก็เจอกันมาหมดแล้ว

ซึ่งช่วงแรก Target ก็มีการส่งอีเมลไปแจ้งเตือนลูกค้ากลุ่มดังกล่าวว่ามีสินค้าค้างอยู่ในตะกร้า เพื่อจูงใจให้พวกเขากลับมาชำระเงินให้เสร็จ แต่มันก็มีส่วนน้อยที่ทำตามคำเชิญดังกล่าว ทำให้ Target ตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการใช้กลยุทธ์ให้ส่วนลดกับลูกค้าเหล่านี้ แต่ต้องมาซื้อสินค้าดังกล่าวภายในสาขากว่า 1,800 แห่งทั่วประเทศเท่านั้น

การซื้อสินค้าแบบ Ecommerce

ส่วนผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ Target สามารถปิดการขายสินค้าที่อยู่ในตะกร้าบนโลก Online ได้มากกว่าเดิม แถมพอดึงลูกค้าเข้ามาในสาขาได้แล้ว ตัวยอดชำระเงินก็ไม่ได้มีแค่สินค้าเดียวกับที่อยู่ในตะกร้าบน Online เพราะลูกค้ามักจะซื้ออะไรเพิ่มติดไม้ติดมือไปเสมอ ทำให้ตัวยอดใช้จ่ายต่อบิลเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

Matt Schlicht ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Octane AI เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันมีผู้ซื้อกว่า 70% ทิ้งสินค้าไว้ในตะกร้าบนโลก Online และไม่ยอมชำระเงิน โดยในปี 2559 มูลค่าสินค้าเหล่านั้นรวมกันกว่า 18,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6 แสนล้านบาท) และถ้าหาวิธีอะไรมาแก้ปัญหานี้ได้ก็คงงจะดีไม่น้อย

Ecommerce // ภาพจาก Shutterstock

“เมื่อคุณอยู่ในสาขา มันก็ง่ายต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า เพราะสามารถเห็นได้ทุกอย่าง ดังนั้นมันคือโอกาสใหม่ของ Target ที่จะใช้กลยุทธ์นี้เพื่อดึงดูดคน Online เข้ามาซื้อของตามสาขา และเพิ่มยอดขายไปพร้อมกัน ถือเป็นการเชื่อมต่อช่องทางการขายทั้งคู่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ”

สรุป

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน Target โดดเด่นในเรื่องถ้าเข้าไปซื้อของสักอย่าง เวลาเดินออกมาจริงๆ ก็คงของเต็มรถเข็น ดังนั้นเมื่อตัวสาขาก็สต๊อกสินค้าอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว ทำไมไม่ยอมแลกเปลี่ยนส่วนลดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อได้มาซึ่งยอดต่อบิลที่มากกว่าเดิมล่ะ และสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นกับค้าปลีกในประเทศไทยในอนาคตก็ได้

อ้างอิง // Digiday

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา