เย็นตาโฟ หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำสีแดงที่มีรสจัดเล็กๆ คงเป็นอาหารธรรมดาในสายตาหลายคน แต่ อ.มัลลิการ์ ไม่ได้คิดอย่างนั้น แถมยังสร้างแบรนด์ เย็นตาโฟเครื่องทรง โดยอ.มัลลิการ์ จนติดตลาด ผ่านการเน้นขายแค่เย็นตาโฟที่มีให้เลือกแต่เส้นใหญ่เท่านั้น ที่สำคัญยังเตรียมนำร้านนี้ไปเปิดที่สิงคโปร์ด้วย แล้วทำไมถึงทำอย่างนั้นได้
เส้นใหญ่ – ร้านแดง – รสเจ็บ คือหัวใจ
มัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มัลลิการ์ อินเตอร์ฟู๊ด จำกัด เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ได้เปิดร้าน เย็นตาโฟเครื่องทรง โดยอ.มัลลิการ์ ขึ้นมา เริ่มต้นที่แถวแยกเหม่งจ๋าย แต่พอมีลูกค้ามากขึ้นก็อยากขยายตลาดเข้าไปในห้างสรรพสินค้า ทำใหต้องคิดใหม่หลายๆ อย่าง การขายแต่เส้นใหญ่คือหนึ่งในกลยุทธ์หลัก เพราะสามารถปรุงเย็นตาโฟได้เร็วขึ้น นอกจากนี้การสร้างร้านให้เป็นสีแดงเห็นชัดเจน และการสร้างรสชาติต่างๆ เช่นรสเจ็บ, ใจเสาะ กับเด็กเด็ก ก็เป็นอีกหัวใจที่ช่วยสร้างจุดเด่นให้ร้านจนแข่งกับร้าน Fast Food ได้
“เย็นตาโฟเครื่องทรงคือตัวเลือกหลักที่ลูกค้าเข้ามาในร้านเราแล้วต้องสั่ง ส่วนรสชาติต่างๆ ก็มีไว้เป็น Gimmick เช่นถ้าวัยรุ่นมากินก็ไม่อยากสั่งในเสาะ เพราะดูแปลกๆ แต่อาหารอื่นเราก็มีในร้าน และตอนนี้ก็มี 30 สาขาทั่วประเทศ รวมที่ประเทศลาวอีก 2 สาขาแล้ว ซึ่งการเติบโตของเราทำให้มีหลายบริษัทเสนอซื้อเฟรนไชส์ร้านเย็นตาโฟเครื่องทรงฯ แต่เราไม่ขาย เพราะกลัวคุมคุณภาพไม่ได้ หรือบางครั้งมันก็ใหญ่เกินที่เราจะรับไหว เช่นบมจ.ปตท. ก็สนใจให้เราไปเปิดทุกปั๊ม แต่มันคงไม่ได้ เราจึงเปิดเองแค่ 8 สาขาก่อน”
เฟรนไชส์ คืออีกโอกาสทั้งใน และต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม หลังจาก บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้นำในตลาดร้านอาหาร ได้ติดต่อเข้ามาขอซื้อเฟรนไชส์ ทางร้านก็ตัดสินใจขายให้เป็นรายแรก เพราะด้วยความพร้อมของคู่ค้า รวมถึงแผนธุรกิจที่ชัดเจน โดยเริ่มต้นเปิดสาขาบริเวณดอนเมืองก่อน และมีผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะชาวต่างชาติมารับประทานจำนวนมาก จึงมีข้อเสนอที่น่าเข้าไปท้าทาย คือการทำตลาดในต่างประเทศ เริ่มต้นที่สิงคโปร์ ก่อน โดยทางกลุ่มไมเนอร์จะเป็นผู้บริหารทั้งหมด และให้ อ.มัลลิการ์ เป็นคนคุมคุณภาพของรสชาติอีกทาง
สำหรับการทำตลาดในประเทศสิงคโปร์นั้น ปี 2559 จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. เปิดทั้งหมด 3 สาขา ประกอบด้วยสาขาบริเวณถนน Orchard, ย่าน CBD และ Sport Hub เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น, คนทำงาน และครอบครัว โดยป้ายหน้าร้านจะใช้ภาษาไทยตามต้นฉบับทั้งหมด แต่มีภาษาอังกฤษกำกับตามชื่อ และมีภาษาจีนอ่านว่า Thai Gua Yong Tau Foo หรือเย็นตาโฟคนไทย เขียนกำกับไว้เช่นกัน ส่วนรสชาติก็จะเหมือนที่ไทย และมีรสเจ็บ, ใจเสาะ และเด็กเด็ก เพราะคนที่นั่นกินอาหารรสจัดเป็นปกติ และที่สิงคโปร์ก็มีเย็นตาโฟอยู่แล้ว แต่คนละแบบกับที่ประเทศไทย
Self – Service ช่วยควบคุมเรื่องคุณภาพ
อรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ด้านธุรกิจแฟรนไชส์ และกลุ่มธุรกิจอาหารไทย กลุ่มไมเนอร์ บอกว่า ด้วยพฤติกรรมคนสิงคโปร์ 80% ชอบกินข้าวนอกบ้าน ผ่านสถานที่พักอาศัยที่คับแคบ ทำให้โอกาสการขยายร้านอาหารที่นั่นยังทำได้อยู่ แต่หากเป็นอาหารที่ต้องควบคุมคุณภาพ การเลือกทำแบบ Self – Service หรือให้ลูกค้าปรุงรส และจัดการเรื่องเครื่องเอง ก็เป็นอีกวิธีที่ตอบโจทย์ ซึ่งร้านเย็นตาโฟเครื่องทรงที่สิงคโปร์จะใช้วิธีนี้ ทำให้แต่ละร้านจะใช้พนักงานเพียง 5 คน/กะ เพื่อดูแลร้าน ส่วนราคาจะสูงกว่าที่ไทย 30%
ขณะเดียวกัน ไมเนอร์ มีแผนขยายร้านเย็นตาโฟเครื่องทรง อ.มัลลิการ์ ไปอีก 4 สาขาที่สิงคโปร์ในปี 2560 และอยู่ระหว่างวางแผนนำร้านไปยังประเทศอื่นๆ เพราะบริษัทมีประสบการณ์ทั้งการบริหารแฟรนไชส์ รวมถึงเปิดร้านอาหารเองในต่างประเทศกว่า 80 สาขา โดยเฉพาะร้านอาหารไทยในสิงคโปร์ที่มีกว่า 200 ร้าน บริษัทถือส่วนแบ่งอยู่ 15% และเชื่อว่าโอกาสที่ร้านอาหารสัญชาติไทยจะเข้าไปอยู่ในต่างประเทศก็สามารถทำได้อยู่ เพราะอาหารไทยค่อนข้างมีรสชาติเด่น และถูกปากชาวต่างชาติ
สรุป
ร้านอาหารไทย หากบริหารดีๆ มีรสชาติที่ชัดเจน โอกาสที่จะเติบโตได้อย่าง เย็นตาโฟเครื่องทรง อ.มัลลิการ์ แต่หากเลือกวิธีเฟรนไชส์ก็ต้องควบคุมคุณภาพให้ได้ เพราะถ้าคุมไม่ได้ เท่ากับแบรนด์ก็จะเสียไปด้วย ส่วนเรื่องไปต่างประเทศนั้น อันนี้ต้องอยู่ที่ความพร้อม และรสชาติว่าขายได้หรือไม่ ถ้าไปแบบร้านบะหมี่เกี๊ยวหน้าปากซอย อาจไม่ถูกต้องนัก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา