ปัจจุบันกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ถือว่าเป็นกองทุนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้ลดหย่อนภาษีแล้วยังได้ผลประโยชน์จากการลงทุนเนื่องจากเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้น แต่ล่าสุดสภาธุรกิจตลาดทุนเปิดเผยว่าเตรียมแผนสองถ้า LTF หมดอายุสิทธิทางภาษี แล้วทางออกของเรื่องนี้คืออะไร
ใกล้จะสิ้นปี ความคึกคักในการซื้อกองทุนไม่ว่าจะเป็นทั้ง LTF หรือ RMF กลับมาอีกครั้ง โดยปัจจุบันเม็ดเงินของ LTF ที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยประมาณปีละ 70,000 ถึง 80,000 ล้านบาทต่อปี แต่คำถามหลังจากนี้คือถ้าหาก LTF ไม่ได้สิทธิประโยชน์จากภาษีในสิ้นปี 2562 แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
สภาธุรกิจตลาดทุนเตรียมหาทางทดแทน LTF
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานปี 2561-2562 เตรียมศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการออกกองทุนประเภทใหม่ เพื่อทดแทน LTF ที่หมดสิทธิทางภาษีในสิ้นปีหน้า โดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทยจะไม่ขอขยายอายุสิทธิทางภาษีต่อ
ในปี 2559 กระทรวงการคลังได้ต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ LTF อีกรอบ แต่ได้ยืดอายุกองทุนไปเป็น 7 ปีปฏิทิน จึงจะสามารถลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้พึงประเมินเฉพาะส่วนไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ในปีเดียวกันนายกรัฐมนตรีเคยให้หน่วยงานต่างๆ ศึกษานโยบายให้ประชาชนลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทดแทน LTF มาแล้วด้วย
สภาธุรกิจตลาดทุนไทยมอง LTF เอื้อต่อคนไม่กี่กลุ่ม
โดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทยมองว่าควรเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนใหม่ เน้นดึงผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย เข้าสู่ตลาดทุน ซึ่งรวมไปถึงจะเป็นการผลักดันให้ประชาชนทุกระดับใส่ใจการลงทุนระยะยาว เพราะมองว่าซื้อ LTF เอื้อผลประโยชน์แก่ผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงมากกว่า
สมาคมเองกำลังศึกษากองทุนที่ให้ประชาชนได้ลงทุนแทนที่ LTF โดยกำลังปรึกษากับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมไปถึงสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้เตรียมลู่ทางที่จะรองรับเม็ดเงินของ LTF กว่า 390,000 ล้านบาท ที่จะไหลออกจากตลาดหุ้นไทยด้วย
RMF และเงื่อนไขที่หยุมหยิม
ในช่วงที่ผ่านมาถึงแม้ว่ารัฐบาลจะต่อประโยชน์ทางภาษีให้กับ LTF ก็ตาม แลกกับอายุกองทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีการออมเงินในระยะยาวที่ดีที่สุดที่ทำได้คือ การซื้อกองทุน RMF แถมยังช่วยสร้างนิสัยที่ดีในการลงทุนเป็นประจำอีกด้วย
ประเด็นที่สำคัญอีกเรื่องคือ ประชาชนส่วนใหญ่มีมุมมองว่า RMF เป็นการลงทุนที่ยาวนานเกินไป เพราะว่าถ้าหากจะไถ่ถอนกองทุนได้ต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป กลายเป็นว่าผู้ลงทุนใน RMF ส่วนใหญ่มีอายุ 35-40 ปีขึ้นไปลงทุนแทน ซึ่งเป้าหมายใหญ่ในการลงทุน RMF คือเน้นกลุ่มวัยรุ่นวัยทำงาน เพื่อที่จะได้มีเงินใช้ในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่อง เงื่อนไขการซื้อ RMF ที่เงื่อนไขค่อนข้างหยุมหยิม ประชาชนทั่วไปเข้าใจค่อนข้างยาก และถ้าหากทำผิดเงื่อนไขการลงทุนจะต้องโดนภาษีจากส่วนกำไรที่ได้อีกต่างหาก กลับกลายเป็นว่าทำให้ยากต่อการลงทุนเข้าไปอีก
อาจต้องปรับใหม่
ถ้าหากสภาธุรกิจตลาดทุนต้องการที่จะให้ประชาชนทั่วๆ ไปสามารถเข้าถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่าให้ผลตอบแทนที่ดี สร้างความมั่งคั่งได้ เรื่องนี้อาจต้องมีการปฏิรูปการลงทุนในกองทุนเหล่านี้เช่นกฏหรือข้อระเบียบที่เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น
กองทุนใหม่ที่มาทดแทน LTF อาจมีเงื่อนไขที่ลดน้อยลง เข้าใจง่ายในการลงทุน แต่อาจมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่น้อยกว่าเดิมเล็กน้อย (แต่สิทธิต่างๆ ดีกว่ากองทุนเปิดทั่วๆ ไป) ก็อาจเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ทำให้ประชาชนสามารถลงทุนในหุ้นไทยอีกทางได้ ส่วนเม็ดเงินเกือบๆ 4 แสนล้านบาทก็อาจแปลงร่างไปเป็นกองทุนใหม่ ซึ่งลดผลกระทบจากเงินไหลออกจากตลาดได้
ที่มา – RYT9, สำนักข่าวไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา