เบื้องหลัง KPLUS ตัวใหม่ กสิกรไทยต้องทำยังไงถึงจะมีฐานลูกค้า 100 ล้านคน

แบงก์กสิกรไทยอัพเกรด KPLUS ออกฟีเจอร์ใหม่เพียบ แต่เขาทำได้ยังไง และเป้าหมายใหม่ในการมีลูกค้า 100 ล้านคน KBANK ต้องทำอะไรบ้างหลังจากนี้

วางแผนเพิ่มลูกค้าจาก 10 ล้านเป็น 100 ล้านรายทั่วโลก

สมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) บอกว่า ปัจจุบันมีลูกค้าใช้แพลตฟอร์ม KPLUS ที่ 9.4 ล้านราย ซึ่งสิ้นปีนี้น่าจะมีลูกค้าเกิน 10 ล้านคนแน่นอน แต่เป้าหมายใหญ่ของเราคือจะต้องทำแพลตฟอร์มให้แข็งแรงขึ้นและเพิ่มผู้ใช้งานให้ไปถึง 100 ล้านรายทั้งไทยและต่างชาติ

“เราต้องคิดนอกกรอบ KPLUS เราจะไม่ใช่แค่บริการแบงก์ ต้องมีบริการอย่างอื่นมาเพิ่ม และอนาคตจะให้บริการร่วมกับแบงก์ต่างประเทศ ไม่ใช่แค่บริการในไทย เราจะทำให้ KPlus เป็นศูนย์รวมทั้งผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ ผ่านการ open platform เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้งานทั้งไทยและทั่วโลก ซึ่งจะเอื้อให้การค้าง่ายขึ้น”

ชู KADE เทคโนโลยีเบื้องหลังแอพฯ KPLUS

ล่าสุดที่ KPLUS ที่อัพเกรดใหม่ เกิดจากเทคโนโลยีสำคัญคือ AI-Artificial intelligence (ปัญญาประดิษฐ์) ที่ชื่อว่า KADE ซึ่งจะทำให้ธนาคารเข้าใจแล้วก็รู้ใจลูกค้ามากขึ้น เพราะ KADE จะศึกษา เรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า นำมาวิเคราะห์และต่อยอดให้บริการได้ดีขึ้น

อย่าง 6-7 เดือน เดือนที่ผ่านมาเราใช้ AI  Machine Learning มาดูว่าลูกค้าคนไหน มีพฤติกรรมดี อยากได้สินเชื่อ เราก็เสนอสินเชื่อส่วนบุคคล (Ploan) ให้ผ่านมือถือ โดยไม่ต้องใช้พนักงาน ตอนนี้ก็มีปล่อยสินเชื่อไปหลายพันล้านบาทแล้ว ที่สำคัญหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ (npl) ที่เกิดขึ้นยังต่ำกว่าการปล่อยสินเชือช่องทางอื่นๆ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของแบงค์ในการจัดการหนี้เสียด้วย

ตอนนี้ทีมงานที่ทำเรื่อง AI มีอยู่ 60 คน ภายในสิ้นปีหน้าเราก็ตั้งใจจะเพิ่มขึ้นเป็น 200 คน เพื่อรองรับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆบริการใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น

ปี 62 เตรียมฟีเจอร์ใหม่ สั่งงานด้วยเสียง-ใช้หน้าจ่ายเงิน-robo advisor

ตอนนี้ใน Lab เรากำลังทดสอบบริการหลายอย่าง 1. Voice Command หรือการใช้คำสั่งเสียงในการทำธุรกรรมได้เลย เพราะบางครั้งเราไม่สะดวกที่จะกดมือถือมากนัก เช่น พอเรากำลังจะข้นด่วนต้องเติมเงินใน Easy Pass เราไม่สะดวกมากดมือถือ ต่อไปเราก็เปิดแอพฯ KPLUS แล้วพูดสั่งว่า โอนเงิน 300 บาทเข้า Easy Pass ได้เลย ซึ่งระบบจะทวนคำสั่งของเรา ให้ยืนยันก่อนว่ารายการถูกต้องไหม แล้วถึงจะดำเนินการให้

2.การใช้ใบหน้าในการชำระเงิน ตอนนี้เราทดลองการใช้ใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน วิธีการคือ เราต้องถ่ายรูปตัวเองเก็บไว้ในแอพฯ ก่อน เมื่อจะจ่ายเงินฝั่งร้านค้าก็เปิด KPLUS ถ่ายรูปลูกค้า ถ้าตรงกันก็จ่ายเงินได้เลย  เส้นทาง Voice Command แล้วก็การใช้ใบหน้าในการชำระเงินน่าจะได้ใช้จริงภายในต้นปีหน้า

3.Robo adviser ที่ปรึกษาทางการเงินผ่านมือถือให้ลูกค้า KPLUS บริหารเงินง่ายขึ้น จะมีทั้งแนะนำการออมเงินวิธีการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมาย ฯลฯ  feature นี้น่าจะออกมาให้ใช้ได้จริงในครึ่งปีแรก 2562

KBank บุกลูกค้าเมืองรองตั้งเป้าขยายทั้งสาขาและ Mobile

พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ที่ผ่านมาธนาคารเราเน้นตลาดลูกค้าหัวเมืองใหญ่ที่มีธุรกรรมเกิดขึ้นเยอะ แต่ปีนี้เราจะขยายไปที่จังหวัดเมืองรองต่างๆ มากขึ้น เพื่อเข้าถึงลูกค้าหลายกลุ่ม หลักๆ เช่น ร้านค้า รวมถึงกลุ่มนักศึกษาที่อนาคตเขาต้องใช้บริการทางการเงินเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเรามีลูกค้าใหม่ที่สมัครใช้ KPLUS 150,000 รายต่อเดือน

“วันนี้เราต้องทำการเข้าถึงลูกค้าในเชิงรุกมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาธนาคารเป็นฝ่ายรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาหาแต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนแบงค์ต้องปรับตัว อย่างด้านไอทีแต่ละปีธนาคารกสิกรไทยใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท”

สรุป

มือถือกลายเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิต ธนาคารเลยต้องปรับตัวให้ไว อย่างกสิกรไทยอัพเกรด KPLUS ตัวใหม่เพื่อเข้าถึงและเข้าใจลูกค้ามากขึ้น แต่ไม่ใช่แค่ลูกค้าคนไทย เขามองไปถึงฐานลูกค้าทั่วโลก ดังนั้นเขาต้องพัฒนาบริการใหม่ๆ เช่น คำสั่งเสียง การใช้ใบหน้าจ่ายเงิน ที่ปรึกษาการลงทุน ฯลฯ  ขณะเดียวกันต้องลงพื้นที่เข้าหาลูกค้าเชิงรุกในกลุ่มต่างๆ มากขึ้น หลังจากนี้คงต้องติดตามกันว่ากสิกรไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง