เปิดทิศทาง E-Sport ของ AIS กับสถานการณ์ที่ทุกภาคส่วนเข้ามาจับตลาดเกมจนคล้ายฟองสบู่

E-Sport กลายเป็นคำยอดฮิตของการขายโปรเจคในช่วงนี้ เพราะคนเริ่มมองเกมเป็นกีฬา และหากใช้เกมเป็นเครื่องมือก็น่าจะเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ได้ไม่มากก็น้อย แล้ว AIS ที่เพิ่งจัดแข่งเกมครั้งใหญ่มองเรื่องนี้อย่างไรบ้างล่ะ

การแข่งขัน E-Sport

E-Sport กับอีกกลยุทธ์สำคัญในการทำตลาด

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (6-7 ต.ค.) AIS พี่ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมประเทศไทย เพิ่งเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการแข่งขัน PVP Esports Championship ที่จัดโดยบริษัทแม่อย่าง Singtel โดยที่งานนนั้นมีเงินรางวัลรวมกว่า 3 ล้านบาท แสดงให้เห็นความจริงจังในการใช้ E-Sport เป็นหนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนธุรกิจจากนี้

สุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ หัวหน้างานบริหารผลิตภัณฑ์กลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS เล่าให้ฟังว่า การทำตลาดด้วย E-Sport ของบริษัทจากนี้จะมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะล่าสุดเพิ่งมีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ในกลุ่ม Singtel รายอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อน E-Sport ไปด้วยกัน

สุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ หัวหน้างานบริหารผลิตภัณฑ์กลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS

“ด้วยเราทำธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในบ้าน ทำให้การลงทุนที่เกี่ยวกับ Gaming Industry ก็น่าจะช่วยส้รางการเติบโตของตัวธุรกิจได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ AIS ก็มีทำอยู่บ้าง แต่จากนี้มันจะเข้มข้นมากขึ้น ไม่ใช่เอาป้าย Logo ของเราไปแปะอยู่ตามงานอีกต่อไป”

ลงทุนจัดการแข่งขัน พร้อมบริการที่เกี่ยวกับเกม

สำหรับการลงทุนที่เกี่ยวกับ E-Sport นั้น AIS ในมุมผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ก็จะเน้นพัฒนาระบบเน็ตเวิร์คให้มีประสิทธิภาพ และมีการทำตลาดเกี่ยวกับซิม, การให้ไอเท็ม รวมถึงฟรีค่าบริการข้อมูล (Data) ในการเล่นเกม ส่วนในฝั่งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ใช้งานในบ้านนั้น ก็จะยกระดับความเร็ว และความเสถียรเช่นกัน

บรรยากาศการแข่งขัน E-Sport

“นอกจากเรื่องระบบเครือข่ายแล้ว เราจะเดินหน้ามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมเกมในแง่มุมอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานแข่งขันเกมด้วยตัวเองเป็นต้น เพราะปัจจุบันมันมีหลากหลายโอกาสในอุตสาหกรรมเกมที่ AIS สามารถเข้าไปช่วยยกระดับให้ดีขึ้น และสร้างนักกีฬา E-Sport ชาวไทยจากผู้เล่นเกมชาวไทยกว่า 10 ล้านคนได้ด้วย”

ทั้งนี้หากจัดการแข่งขันจริง มุมมองในการเลือกเกมของ AIS จะเน้นที่ความนิยมของเกมนั้นๆ เป็นหลัก คล้ายกับกรณีที่จัดแข่ง PVP Esports Championship ที่ประกอบด้วย RoV และ DOTA2 ที่ได้รับความนิยมในตอนนี้ ยิ่ง AIS มองว่าเกมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของการเปลี่ยนธุรกิจไปสู่ Digital Service Provider ตัว E-Sport ก็ยิ่งสำคัญ

Alpha X หนึ่งในทีมของเครือ Alpha ที่มีการลงทุน E-Sport อย่างจริงจัง

E-Sport ที่เหมือนจะเป็นฟองสบู่ในตอนนี้

ในทางกลับกันนอกจากบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีจะลงมาสนับสนุน E-Sport อย่างเต็มตัวแล้ว ปัจจุบันยังมีองค์กรจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เข้ามาลงทุนทำตลาดผ่าน E-Sport กันมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความนิยม และเหมือนว่าการใส่เงินเข้าไปในเรื่องนี้อาจสร้างวิกฤติฟองสบู่อย่างเต็มตัว

“AIS เข้ามามันชัดเจนอยู่แล้ว เพราะเราเป็นทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในบ้าน ซึ่งที่เราเข้ามามันไม่ใช่แค่รายได้ แต่คือประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าที่ดีขึ้น ส่วนคนอื่นๆ ที่เข้ามาก็คิดว่าน่ามองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เช่นการเข้าถึงผู้บริโภคได้ตั้งแต่วัยเด็กถึง Millennial ได้ดีขึ้น”

Alpha X ที่ได้แชมป์ RoV รายการ PVP Esports Championship

ส่วนการแข่งขัน PVP Esports Championship ที่เพิ่งจบไปนั้น ในเกม RoV ทีม Alpha X จากประเทศไทยเป็นผู้ชนะ พร้อมคว้าเงินรางวัลกว่า 1.3 ล้านบาท โดยทางทีมนั้นใช้เวลาซ้อมราว 6-8 ชม./วัน และมีบางคนที่ยังศึกษาอยู่ ดังนั้นการแบ่งเวลาอย่างเหมาะสม พร้อมการลงทุนทำทีมอย่างจริงจัง ก็น่าจะพัฒนา E-Sport ไปได้ไกล

สรุป

จะเกิดวิกฤติฟองสบู่ใน E-Sport หรือไม่อันนี้ไม่มีใครรู้ แต่เชื่อว่าการที่มีเงินไหลเข้ามาให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น ประกอบกับมีคนที่อยากจะเริ่มธุรกิจ E-Sport เช่นกัน หากความต้องการของทั้งคู่สวนทางกันเมื่อไร โอกาสที่ฝั่งลงทุน E-Sport ก็อาจล้มหายตายจากไปก็ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา