ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาของ Tencent จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยดีของบริษัทเท่าไหร่นัก แต่การลงทุนของบริษัทที่มีหลากหลายรูปแบบอาจเป็นไพ่ใบสุดท้ายของบริษัท สามารถนำไปต่อยอดในการลงทุนอื่นๆ ได้ แม้ว่าจะโดนข้อครหาว่าหมดไอเดียในการพัฒนาเทคโนโลยีก็ตาม
Tencent บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนได้ลงทุนไปกับสตาร์ทอัพ รวมไปถึงบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งเป็นเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลในช่วงที่ผ่านมา โดยข้อมูลจาก Nikkei บริษัทมีสัดส่วนเงินลงทุนมากถึง 28% ของสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีข่าวว่าบริษัทเทคโนโลยีของจีนไม่ว่าจะเป็น JD.com ไม่เว้นแม้แต่คู่แข่งอย่าง Alibaba จะเริ่มลดเม็ดเงินในการลงทุนสตาร์ทอัพลง อย่างไรก็ดีเม็ดเงินที่ลงทุนไปแล้วก็นับว่าเป็นจำนวนที่มากอยู่ดี
มารู้จักกับ Tencent ได้จากบทความของ Brand Inside
เคราะซ้ำกรรมซัดในปีนี้
Tencent ถือว่าเป็นบริษัทที่โชคไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักในปีนี้ นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมามูลค่าตลาดของบริษัทได้หายไปเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท โดยสาเหตุหลักๆ คือรายได้หลักของบริษัทซึ่งพึ่งพากับเกมออนไลน์ในประเทศจีนเริ่มประสบปัญหาเมื่อรัฐบาลจีนเริ่มที่จะควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งเราได้เห็นการลงมือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของบริษัทเช่น การเล่นเกมต้องลงทะเบียนด้วยชื่อจริงๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกำไรบริษัทที่ลดลงครั้งแรก ทำให้บริษัทต้องปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการที่เน้นลูกค้าองค์กรมากขึ้น ปรับแผนการทำธุรกิจหลายๆ อย่าง และต้องเริ่มตอบสนองต่อนักลงทุนมากขึ้นด้วย หลังจากที่นักวิเคราะห์เริ่มมีมุมมองไม่สดใสเหมือนในอดีต
แผนการลงทุนของบริษัทที่ลงทุนไปเรื่อยๆ?
Pan Luan คอลัมนิสต์ของ CNN มองว่า กลยุทธ์การลงทุนในบริษัทต่างๆ ของ Tencent คือ “ไม่มีแผนการในการลงทุน” โดยมองว่าในช่วงที่ผ่านมายักษ์ใหญ่รายนี้ได้ลงทุนไปหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตซึ่งดูเป็นที่ถูกใจ นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีด้วย
การลงทุนของ Tencent มีทุกรูปแบบมีตั้งแต่ลงทุนตั้งแต่บริษัทเริ่มต้น ไล่ไปจนถึงก่อนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ส่วนทางด้านสัดส่วนการลงทุนของบริษัทมีแทบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยในบริษัทนั้นๆ รวมไปถึงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
Tencent ลงทุนอะไรไปบ้างแล้ว
ข้อมูลจาก Crunchbase ปัจจุบัน Tencent ได้ลงทุนกับสตาร์ทอัพ รวมไปถึงบริษัทเทคโนโลยีประมาณ 270 บริษัท ถือว่าเยอะมากๆ Brand Inside รวบรวมบริษัทที่น่าสนใจ ซึ่ง Tencent ได้ลงทุนในช่วงที่ผ่านมา
- Tesla บริษัทลงทุนประมาณ 5%
- Spotify บริษัทลงทุนประมาณ 9%
- Snap บริษัทลงทุนประมาณ 15%
- SEA เจ้าของ Shopee รวมไปถึง Garena โดยบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่
- Meituan-Dianping สตาร์ทอัพส่งอาหารที่พึ่งจะ IPO ไปสดๆ ร้อนๆ
- We Doctor สตาร์ทอัพทางด้านสุขภาพ ซึ่ง IPO ไปในปีนี้
- China Literature แอพอ่านนิยายชื่อดัง ซึ่ง IPO ไปในปีนี้
- Nio สตาร์ทอัพรถยนต์ไฟฟ้า โดยคาดว่าจะเป็นคู่แข่งของ Tesla
- Uber
- Lyft
- Go-Jek
- Ola
- Riot-Games
- Flipkart E-commerce รายใหญ่ซึ่งเป็นคู่แข่งในประเทศอินเดียของ Amazon
- YG Entertainment ค่ายเพลงใหญ่ของประเทศเกาหลี
ล่าสุดยังมี Tencent Music Entertainment ซึ่งบริษัทกำลังเตรียมที่จะ IPO โดยตั้งเป้าระดมทุนให้ได้ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย
ไม่ใช่แค่บริษัทเทคโนโลยี
นอกจากนี้บริษัทยังได้ลงทุนในบริษัทอื่นๆ นอกจากบริษัทเทคโนโลยีด้วย ไม่ว่าจะเป็น
- Wanda Commercial Mall โดยลงทุนมูลค่า 34,000 ล้านหยวน ร่วมกับ JD.com และนักลงทุนอื่นๆ
- Foxconn Industrial Internet ซึ่งบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ลงทุน
- Super Species ซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งอนาคต
- ลงทุนในห้าง Better Life ประมาณ 6%
- Heilan Home ร้านแต่งกายผู้ชาย มีสาขากว่า 5,000 สาขาในจีน
- Yonghui กิจการซุปเปอร์มาร์เก็ตของจีน บริษัทลงทุนประมาณ 5%
- ลงทุนกิจการในประเทศจีนของ WPP โดยจับมือกับ Alibaba ในการลงทุน
- China Unicom โดยบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนหลังจากรัฐบาลจีนต้องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจรายนี้
- Luckin Coffee ร้านกาแฟชื่อดังในประเทศจีน คู่แข่งของ Starbucks ในจีน
- Miniso ร้านขายของชื่อดัง โดยล่าสุดระดมทุนไปได้มากถึงประมาณ 4,700 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าการลงทุนของ Tencent มีมากมายจริงๆ และมีหลากหลายอุตสาหกรรมที่ลงทุนอีกด้วย
ไพ่ใบสุดท้าย?
ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้รับเสียงตอบรับที่ไม่ค่อยดีนักจากนักลงทุน นักวิเคราะห์ รวมไปถึงสื่อ ว่าบริษัทอาจหมดความคิดในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ไปแล้ว และกำลังจะกลายเป็นบริษัทที่เน้นด้านลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพหรือแม้แต่บริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ แทน
แต่ก็ไม่แน่ว่าการลงทุนในบริษัทเหล่านี้อาจเป็นไพ่ไม้ตายใบสุดท้าย ซึ่งบริษัทหลายๆ แห่งที่ Tencent ลงทุน (และหลายๆ แห่งบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ด้วย) สามารถผลักดันให้เข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อที่จะปลดล็อกหรือขายทำกำไรจากการลงทุนและนำเงินไปลงทุนต่อยอดกับบริษัทอื่นๆ แทน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา