เมื่อการบริการคนในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างจากการทำธุรกิจ Bar B Q Plaza เผยเคล็ดลับในการบริหารคนให้ได้ใจพนักงาน จากองค์กรที่คนไม่รู้จักในอดีต จนกลายเป็นแบรนด์ที่ทุกคนรักในทุกวันนี้
ต้องเริ่มจาก Trust และ Engagement
เบื้องหน้าของแบรนด์ที่สามารถส่งต่อความสุขให้ผู้บริโภคผ่านมื้ออาหารได้อย่าง “บริษัท ฟู้ด แพชชั่น จำกัด” ที่เป็นบริษัทแม่ของแบรนด์ Bar B Q Plaza ร้านอาหารปิ้งย่างขวัญใจคนไทย โดยมีส่วนผสมของการสร้างแบรนด์ และการมีโปรโมชั่นที่โดนใจผู้บริโภค
จริงๆ แล้วเบื้องหลังคววามสำเร็จนั้นที่สำคัญมาจากเรื่องของ “คน” ที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนธุรกิจ เพราะฉะนั้นการบริหารคนจึงกลายเป็นวาระสำคัญที่ทุกองค์กรใส่ใจ และให้ความสำคัญมากขึ้น
โดยที่ล่าสุด Food Passion สามารถคว้ารางวัลที่สุดแห่งสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ที่จัดขึ้นโดยเอออนร่วมกับศศินทร์เป็นการประกาศ 12องค์กรสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยประจำปี 2561
Food Passion ได้ก่อตั้งมากว่า 30 ปีแล้ว เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัว จนถึงตอนนี้เจนเนอเรชั่นที่ 2 อย่าง “ชาตยา สุพรรณพงศ์” ขึ้นแท่น CEO ของบริษัท ได้ลงมาดูธุรกิจได้ 9 ปีแล้ว ได้ทรานส์ฟอร์ม Bar B Q Plaza ให้เป็นแบรนด์ที่ทุกคนรักได้ภายในเวลาไม่กี่ปี
ตอนนี้ชาตยาได้ดูภาพรวมขององค์กรทั้งหมด ได้เปิดเผยถึงแนวความคิดของการบริหารคนฉบับ Food Passion ว่าบริหารบนคำว่า Trust กับ Engagement โดยใช้ 2 คำนี้เป็นหลัก
ชาตยาอธิบายเพิ่มเติมว่า Trust หรือหมายความว่าความไว้วางใจ เชื่อใจ จะเป็นกุญแจไขไปสู่ประตูหัวใจของแต่ละคน ถ้าทุกคนมี Trust แล้วจะขอร้อง หรือให้ช่วยทำอะไรได้อย่างมีวินัย และอีกฝ่ายจะทำให้อย่างเต็มใจ ทำให้มากกว่าที่ร้องขอเสียอีก
ส่วนกุญแจดอกต่อไปก็คือ Engagement มีทฤษฎีพิสูจน์ไปถึงขั้นตอน และผลลัพธ์ในเรื่องของการการสร้างความผูกพันกับพนักงาน ทุกองค์กรล้วนต้องการผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดี ถ้าบริษัทที่มีความผูกพันกับพนักงานมากเท่าไหร่ พนักงานจะอยู่นาน ทุ่มเท และมีการพูดถึงองค์กรในทางที่ดี สามารถหาคนเก่งๆ เข้ามาร่วมงานด้วยได้
ชาตยาบอกว่าจริงแล้วได้ใช้คำว่า Trust กับ Engagement อยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว เพราะเป็นธุรกิจครอบครัว เพียงแต่เสริมให้เข้มข้น เอาแนวความคิด และหลักสูตรมาเสริมเป็นความรู้ ลองให้หัวหน้า Trust ลูกน้องให้ลองผิดลองถูก รวมถึงให้พนักงาน Trust เพื่อนร่วมงาน กิจกรรม
ซึ่งชาตยาได้ประยุกต์ใช้ Trust กับ Engagement กับทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะเป็นพนักงานในออฟฟิศ หรือพนักงานที่สาขา เพราะ Trust และ Engagement มีความเป็นสากล สามารถใช้ร่วมกันได้ในหลักการเดียวกัน
จากแบรนด์ที่ไม่มีคนสนใจ จนกลายเป็นแบรนด์ที่ทุกคนเลิฟ
ปัจจุบัน Food Passion มีพนักงานรวมทังหมด 4,000 คน แบ่งเป็นพนักงานที่ออฟฟิศ 300 คน ที่โรงงาน 300 คน และอีก 3,400 คนเป็นพนักงานที่สาขา
ชาตยาบอกว่าการบริหารคนในยุคนี้ท้าทายกว่าช่วง 9 ปีก่อนที่ลงมาบริหารแรกๆ อย่างมาก เพราะตอนนี้ในองค์กรมีเจนเนอเรชั่นที่หลากหลาย ต้องเรียนรู้ความต้องการของแต่ละเจนอีกเยอะ ต้องลงไปรู้ไลฟ์สไตล์
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือในช่วงแรกนั้นคนยังไม่ค่อยรู้จักแบรนด์ การที่จะดึงดูดคนเข้ามาทำงานด้วยก็เป็นไปได้ยาก แต่ตอนนี้สามารถเป็นแบรนด์แรกๆ ที่คนอยากทำงานด้วยแล้ว
“ในตอนแรกๆ ที่ไปต่างจังหวัดเพื่อหาคนมาฝึกงาน มาทำงานด้วยก็พบว่าไม่ค่อยมีคนรู้จักแบรนด์ จึงต้องเล่าเรื่ององค์กร แนวคิดต่างๆ ตอนนั้นก็ได้มาฝึกงาน 50 คน หลังจากนั้นก็มีไปโรดโชว์มากขึ้น ก็มีคนมาสมัครมากขึ้นเพราะพลังปากต่อปาก ยิ่งช่วงหลังได้มีการสร้างแบรนด์มากขึ้นด้วยทั้งภายนอกและภายใน จนทำให้ตอนนี้ Food Passion เป็นแบรนด์แรกๆ ที่คนสนใจอยากทำงานด้วยไปแล้ว”
หมั่นเช็คสุขภาพองค์กรอยู่เสมอ
วิธีการสร้างแบรนด์ภายในขององค์กรนั้น ชาตยาบอกว่าได้ทีมงานมีการเช็คสุขภาพองค์กร มีการทำเซอร์เวย์ภายใน ดูว่าพนักงานมีความผูกพันในด้านต่างๆ อันไหนสูงต่ำ ทำให้เห็นว่าตรงไหนป่วย อ่อน หรือแข็งตรงไหนบ้าง จากนั้นก็ทำการแก้ให้ตรงจุด ใช้การทำกิจกรรมในแต่ละฝ่ายเพื่อให้เกิด Impact
หลังจากที่ได้ทำการเช็คสุขภาพองค์กรอย่างจริงจังได้ 2 ปี ก็พบว่าอัตรา Turn Over หรือการลาออกมีเพียง 60% ถือว่าต่ำกว่าในตลาดร้านอาหารที่มีอัตราสูงถึง 80%
“การที่ทำให้มีอัตรา Turn Over ต่ำก็มาจากการทำ Engagement เมื่อ 10 ปีก่อนบริษัทหาคนมาทำงานด้วยยากมาก เป็นร้านสุดท้ายที่คนมาสมัคร หรือส่งใบสมัครมาแล้วแต่ไม่มาสัมภาษณ์ ยิ่งแต่ก่อนอัตรา Turn Over สูงถึง 100-120% เข้ามา 100 ออกไป 100 แต่พอทำเรื่อง Engagement อย่างเป็นรูปธรรมก็ดึงดูดคนทำงานได้มากขึ้น”
สวัสดิการต้องเจ๋ง พัฒนาทั้งกาย และใจ
ถ้าพูดถึงเรื่องเรื่องสวัสดิการของ Food Passion นั้นอาจจะไม่ได้พูดถึงเรื่องตัวเงิน แต่เรียกว่ามีการพัฒนาทั้งร่างกาย และจิตใจ มีการเรียกว่า Happy 4 Plus 4 ได้แก่ กินดี, พักสบาย, กายแข็งแรง, แบ่งปันความรู้, จิตดี, ครอบครัวดี, มีเงินใช้ และให้สังคม
ยกตัวอย่าง “กินดี” ที่ร้านจะมีอาหารให้น้องที่สาขาวันละ 2 มื้อ ก็คือให้พนักงานมาแต่ตัวไม่ต้องกังวลเรื่องอาหาร เชื่อว่าท้องอิ่มก็เดินบริการได้ และได้ทำการศึกษาก็พบว่าธุรกิจอาหารไม่ได้เลี้ยงอาหารพนักงานทุกแบรนด์ ประเด็นนี้เกิดจากการที่ผู้บริหารลงไปฝึกงานในร้านแล้วพบว่ามี Pain Point เรื่องนี้จริงๆ ส่วนที่ออฟฟิศจะมีอาหารเช้า ทำให้พนักงานไม่ต้องห่วงเรื่องอาหารเช้า และเป็นการกระตุ้นให้มาทำงานเช้าขึ้นด้วย
ส่วน “พักสบาย” มีการทำห้องพนักงานให้ได้พักขา เน้นครีเอทีฟ มี Happy Hour เป็นช่วงเวลาดีๆ ของพนักงาน มีการจัดแก๊งค์ส่งสุขที่จะสุ่มเข้าร้านแต่ละสาขา ถ้าแก๊งค์นี้เข้าร้านไหนพนักงานก็จะได้พักเพิ่ม รวมถึงมีทีมนวดคอยลงพื้นที่ เป็นพี่ๆ คนตาบอดที่มานวดให้พนักงาน เป็นนโยบายจ้างคนพิการด้วย
ชุดยูนิฟอร์มก็ต้องมี Attitude
ชุดยูนิฟอร์มก็เป็นหนึ่งในผลผลิตที่เกิดจากแนวคิดของผู้บริหารที่ต้องการสร้างความสุขให้พนักงาน ซึ่งชุคยูนิฟอร์มที่มีการใช้ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนมาแล้วเป็นเวลา 5-6 ปีก่อน เป็นช่วงที่ Bar B Q Plaza ได้ทำการรีแบรนด์
“ตอนเปลี่ยนชุดยูนิฟอร์มให้พนักงาน ตอนนั้นเป็นช่วงรีแบรนด์ก็คิดว่าอยากให้ทันสมัยขึ้น มาทั้งฟังก์ชั่น และ Attitude เด็กศิลป์ต้องเอาอารมณ์ก่อนฟังก์ชั่นเสมอ ต้องทันสมัย เสื้อไม่เชย คนใส่ต้องภูมิใจ เดินออกจากบ้านได้ ผู้บริหารต้องกล้าใส่ คุณพ่อก็ใส่ชุดผู้จัดการร้าน มีโลโก้เล็กๆ เรียบง่าย ไม่ฉูดฉาด พร้อมได้ดีไซเนอร์แบรนด์ดังมาออกแบบให้ด้วย”
ในด้านฟังก์ชั่นยังได้ให้พนักงานเปลี่ยนจากการใส่รองเท้าหนัง หรือรองเท้าคัทชูมาเป็นใส่รองเท้าผ้าใบเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน Pain Point นี้เกิดจากการที่ลองเอาที่วัดการเดินให้พนักงานใส่ พบว่ามีการเดินวันละ 10 กิโลเมตร จึงคิดว่าต้องการให้พนักงานเดินไม่ปวดขา
รวมถึงรายละเอียดเรื่องชายเสื้อก็มีผล ชุดเก่าจะมีชายเสื้อที่สั้น เวลายกของ หรือเช็ดโต๊ะชายเสื้อของพนักงานจะชอบหลุดออกมา ชุดใหม่จึงดีไซน์ให้ชายเสื้อยาวขึ้น วงแขนกว้าง ทุกไซส์ใส่ได้ กระเป๋าต้องแข็งแรงเก็บ PDA ได้
ชาตยาบอกว่าพอเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้น้องๆ ได้ฟังว่าชุดมีแนวคิดอย่างนี้ ก็ทำให้เขาภูมิใจได้
ใส่ความอาร์ต ผสมกับการบริหาร
ถ้าพูดถึงความท้าทายในการเข้ามาบริหารองค์กรในตอนนี้ ชาตยาบอกว่าด้วยความที่มาจากธุรกิจครอบครัว ความท้าทายคือต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองให้แข่งขันได้ในระดับสากล สร้างความยั่งยืนให้องค์กร แต่ก็ยังคงอารมณ์ความรู้สึกของความเป็นครอบครัวไปได้อยู่
ด้วยความที่ชาตยาจบการศึกษาในด้าน “อักษรศาสตร์” ทำให้การบริหารองค์กรมีส่วนผสมของความอาร์ต และการบริการเข้าด้วยกัน ใช้ความอาร์ตของอักษรศาสตร์ในเรื่องของความเข้าใจคน มองเรื่องคนเป็นความท้าทายแบบสนุก
ซึ่งชาตยามองภาพของ Food Passion ใน 3-5 ปีข้างหน้านี้ “อยากเป็นปลาเล็กที่ว่ายเร็ว” ไม่อยากเป็นปลาใหญ่ที่ว่ายช้า ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองเพื่อแข็งขันได้ใน Digital Economy ไม่ถูก Disruption
“ดูแลผู้คนอย่างมีความสุขโดยมีมื้ออาหารเป็นสื่อกลาง”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา
Related