Coca-Cola ประกาศนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมในเรื่องการใช้แพคเกจจิ้งรีไซเคิล ส่วนในประเทศไทยอยู่ในช่วงพูดคุยกับทางภาครัฐ เพราะกฎหมายยังไม่รับรอง
แพคเกจจิ้งต้องมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลภายใน 10 ปี
Coca-Cola หรือ Coke ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลก ควบคู่กับประเด็นที่ว่ามีการใช้แพ็คเกจจิ้งที่เป็นขวดพลาสติก PET จำนวนมาก หลายครั้งอาจจะถูกมองมาหลังจากผู้บริโภคดื่มแล้วจะกลายเป็นขยะ เป็นภาระสิ่งแวดล้อมได้ ทำให้ Coke เริ่มตื่นตัวกับปัญหาพลาสติกมากขึ้น
ทั้งนี้เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา ทาง Coke ได้ประกาศวิสัยทัศน์ World Without Waste เป็นนโยบายเกี่ยวกับแพคเกจจิ้งเพื่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ประกอบ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่
- ดีไซน์ มีการออกแบบแพคเกจจิ้งให้รีไซเคิลได้ 100% ก่อนปี 2568 ตอนนี้ในประเทศไทยได้ทำสำเร็จแล้วโดยที่แพคเกจจิ้งทุกชิ้นสามารถกลับมารีไซเคิลได้ และอีกหนึ่งนโยบายสำคัญก็คือ แพคเกจจิ้งต้องมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 50% ให้ได้ก่อนปี 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้านี้
- ทำการจัดเก็บแพคเกจจิ้งเพื่อนำมารีไซเคิลในปริมาณเที่ยบเท่ากับแพคเกจจิ้งที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ก่อนปี 2573 นั่นก็คือขายของออกไปเท่าไหร่ ต้องตามเก็บมาได้ให้ครบ 100% ตามที่ขายออกไปได้
- เป็น Partner ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่สะอาด ปราศจากขยะมูลฝอยทั้งบนดิน และในทะเล
นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ และการสื่อสาร บริษัท โคคา–โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า
“เนื่องจากเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ มีการใช้ขวด PET เป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องมีบทบาทในการลดปัญหาขยะพลาสติกให้ได้ ตามวิสัยทัศน์ World Without Waste ซึ่งทางบริษัทแม่ได้ประกาศเมื่อตอนต้นปี ทำให้ต้องเริ่มวางแผนการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์อย่างอินโดรามา เวนเจอร์สในการสร้างความมั่นใจกับภาครัฐให้เข้าใจเกี่ยวกับมาตรการนี้”
ทั้งนี้ที่ผ่านมา Coke ได้พยายามลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์มาหลายปีแล้ว มีขวดแก้วที่สามารถล้างทำความสะอาด แล้วบรรจุเครื่องดื่มใหม่ หรืออย่าง “น้ำทิพย์” ได้ลงทุนติดตั้งเครื่องจักรใหม่ รีแบรนด์ตั้งแต่ปี 2555 ทำให้ใช้ขวด PET แบบใหม่ ลดปริมาณพลาสติกจากแบบเดิมได้ 35% และนำร่องยกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวด
จากประเด็นของน้ำทิพย์นั้น ได้มีผู้บริโภคที่เห็นชอบ และไม่เห็นชอบ เพราะคนไทยยังเคยชินกับขวดพลาสติกแข็งๆ อยู่ ในช่วงแรกๆ จึงมีเสียงวิพากย์วิจารย์เยอะอยู่ แต่นันทิวัตบอกว่า การรีแบรนด์น้ำทิพย์ในครั้งนั้นถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ยั่งยืนในระยะยาวสามารถช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม ทำให้น้ำทิพย์เด่นกว่าเจ้าอื่นในตลาด เป็นขวดสีเขียวอยู่รายเดียว มีการลงทุนเครื่องจักรใหม่ ตอนนั้นมีเป้าหมายคือต้องการลดการใช้พลาสติกให้ได้
ซึ่ง Coke ในต่างประเทศอย่างเม็กซิโกออสเตรเลียและญี่ปุ่นได้มีการใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นเวลาหลายปีแล้วแต่ในประเทศไทยยังติดที่ข้อกฎหมายไม่รองรับจึงเป็นความท้าทายที่ต้องคุยกับทางภาครัฐและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคให้ได้
“ความท้าทายในประเด็นนี้คือ การคุยกับผู้บริโภค สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าขวดรีไซเคิลปลอดภัย มีการใช้มานานแล้ว เพราะทางรัฐบาลก็ยึดความมั่นใจของผู้บริโภคเป็นหลัก ถ้าผู้บริโภคเข้าใจ และมั่นใจ ก็มีโอกาสที่รัฐบาลยอมแก้กฎหมาย และผู้ประกอบการรายอื่นก็หันมาทำบ้าง”
ลุ้นรัฐบาลแก้กฎหมาย ใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลได้
กระแสเรื่องการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมเริ่มเห็นเป็นวงกว้าง กลายเป็นประเด็นระดับโลกที่ทุกคนต่างร่วมมือกัน เริ่มมีการพลักดันให้มีการนำขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (Virgin Plastic)
แต่ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ rPET โดยประกาศกระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 ข้อ 8 ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารแล้ว เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” โดยวัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้นเป็นไปเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สะอาด แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าวบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหาร และเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศไทยจึงต้องผลิตขึ้นจากพลาสติกผลิตใหม่ทั้งหมด ซึ่งทำให้ปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กลายเป็นข้อจำกัดของทั้งผู้ประกอบการแบรนด์ต่างๆ ที่ไม่สามารถใช้พลาสติกรีไซเคิลได้ ในปี 2560 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการผลิตขวดพลาสติกออกสู่ตลาดในประเทศมากกว่า 185,000 ตัน และมีเพียงไม่ถึงครึ่งที่ถูกจัดเก็บ และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่วนขวดพลาสติกที่เหลือเกือบ 100,000 ตันต้องถูกนำไปฝังกลบและบางส่วนก็เล็ดรอดออกสู่ทะเลกลายเป็นขยะทางทะเลที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างระดับโลก
ตอนนี้หลายประเทศตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นจึงหันมาส่งเสริมให้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถกลับมารีไซเคิลได้ เช่น ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป
โดยสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 28 ประเทศให้การยอมรับการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร แสดงให้เห็นว่าเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้มาตรฐาน และปลอดภัยที่จะนำมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร โดยเยอรมนีเป็นประเทศที่มีอัตราการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุดในสหภาพยุโรปถึง 94% ส่วนในเอเชียญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการนำพลาสติกมารีไซเคิลสูงสุด 83%
วีระ อัครพุทธิพร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า
“สมาคมเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้สมาคมฯ เพิ่งจับมือกับภาครัฐร่วมประสานงานให้สมาชิกเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวด หรือแคปซีลได้สำเร็จ ตอนนี้เทคโนโลยีการรีไซเคิลได้ก้าวหน้าจนสามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับ เครื่องดื่ม และอาหารได้อย่างปลอดภัย หลายประเทศก็มีการใช้ขวดเครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลอย่างปลอดภัยเป็นเวลานานแล้ว เราจึงอยากมีส่วนร่วมรณรงค์ในประเด็นนี้”
ที่สำคัญคือประเทศรอบข้างในอาเซียนไม่มีกฎหมายบังคับใช้เรื่องพลาสติดรีไซเคิล ยังคงมีแต่ประเทศไทยเท่านั้น ต้องตามกันดูต่อไปว่าทิศทางของรัฐบาลไทย และผู้ประกอบการไทยจะสามารถพูดคุยกันได้หรือไม่
สรุป
เป็นทิศทางที่สำคัญของแบรนด์ใหญ่ๆ ที่ต้องใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งปัญหาเรื่องพลาสติกมีทั้งหลอดพลาสติก ขวดพลาสติก แต่ในประทเศไทยยังติดข้อจำกัดเรื่องกฎหมายที่ไม่สามารถใช้พลาสติกรีไซเคิลได้ ถ้าสามารถปลดล็อกได้คงจะช่วยทำให้ขยะจากพลาสติกน้อยลง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา