เปิดกฎหมายสมรส-มรดก “เลือดข้น คนจาง” ถึงเป็นเมียนอกสมรสก็ต้องได้เงิน!

หลายคนอินกับซีรีย์เรื่อง เลือดข้น คนจาง เพราะมีทั้งวัฒนธรรมจีนสอดแทรก และอยากรู้ว่าใครฆ่าเฮียเสริฐ โดย Brand Inside ได้นำเสนอบทความตอนแรก ในมุมมองของการทำคอนเทนต์

นอกจากนี้ยังมีมุมมองทางกฎหมายที่น่าสนใจ คือ เมื่อสมบัติเยอะขนาดนี้ ใครมีสิทธิในสมบัติ? เอามาปรับใช้ในชีวิตอย่างไรได้บ้าง รับรองว่าได้ประโยชน์แน่ๆ

ถึง “คริส” ไม่ได้จดทะเบียนแต่ต้องได้ทรัพย์สินของประเสริฐด้วย ทำไมล่ะ?

หลังจาก EP.4 ของเลือดข้นคนจาง กลายเป็นว่า คริส (ภรรยา) หย่าขาดจาก ประเสริฐ (สามี) ตั้งแต่ก่อนพีท (ลูก) เกิด แต่ยังอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา ซึ่งเราอนุมานว่าคนรอบๆ ตัว และคนในครอบครับรับรู้ว่าเป็นสามี-ภรรยากันอยู่ เพราะยังอยู่บ้านเดียวกัน ออกงานคู่กัน

ทำให้ คริสและประเสริฐ ถือเป็น หญิงชายที่อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตอนที่ชายหญิงคู่นี้อยู่ด้วยกัน ถึงภรรยาไม่ได้ช่วยทำธุรกิจ แต่เป็นคนดูแลบ้าน ดูแลลูก และครอบครัว ก็ถือว่าเป็นการลงทุนร่วมแรงกัน และหาได้ร่วมกัน ทำให้ตัวทรัพย์สินที่หามาได้ระหว่างที่อยู่ด้วยกัน ต้องแบ่งคนละครึ่ง

ข้อสำคัญทรัพย์สินที่สามี-ภรรยา หาได้ตอนอยู่กินด้วยกัน ไม่ว่าทรัพย์นั้น ใครจะออกเงินเยอะกว่า ไปยืมใครมา หรือทรัพย์นั้นมีชื่อเจ้าของแค่คนเดียว แต่สิทธิในทรัพย์สินนั้นยังต้องแบ่งครึ่งเท่ากัน แต่ศาลจะมีข้อตอนการสืบว่าได้อยู่กินกันจริง ซึ่งมีคดีในอดีตที่ศาลสั่งให้แบ่งทรัพย์แก่ภรรยานอกกฎหมาย สามารถอ่านได้ที่นี่

นอกจากนี้ หากมีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน หรือ การขอสินเชื่อที่ได้มาระหว่างอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ ส่วนใหญ่สถาบันการเงิน กรมที่ดิน จะให้สามีหรือภรรยา ต้องเซ็นใบยินยอมให้ทำธุรกรรมด้วย เช่น

สามีกำลังจะโอนขายบ้าน (ที่ซื้อหลังจากอยู่กินด้วยกัน แต่เป็นชื่อเจ้าของบ้านคนเดียว) แม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภรรยา ทางกรมที่ดินจะให้เซ็นใบยินยอมมาเป็นเอกสารประกอบการขายบ้าน เพื่อแสดงว่าภรรยายินยอมและรับรู้การขายบ้านครั้งนี้

ซึ่งกรณีหนี้สินก็เช่นกัน ไม่ว่าจะจดทะเบียนหรือไม่ สามีภรรยา ต้องเซ็นใบยินยอม เพื่อแสดงการรับรู้ในหนี้สินที่จะเกิดขึ้นในระหว่างช่วงที่อยู่กิน หรือจดทะเบียนสมรสกัน

แล้ว “นิภา” จดทะเบียนสมรสทีหลังจะได้อะไรบ้าง “อาฉี” จะเป็นลูกเฮียเสริฐไหม?

หลัง ประเสริฐ หย่าขาดจาก คริส กว่า 20 ปี (แต่ยังอยู่ด้วยกัน) หลังจากนั้นรับมรดกจากพ่อมาแล้ว แล้วจึง จดทะเบียนสมรสกับ นิภา ซึ่งกลายเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกกฎหมายและส่งผลถึง อาฉี กลายเป็นลูกของประเสริฐเช่นกัน

แต่วันถัดมาหลังจดทะเบียนสมรส ประเสริฐ เสียชีวิต ทำให้ นิภา จะมีสิทธิในทรัพย์สินของประเสริฐ 2 ส่วน ได้แก่

  • สินสมรส เช่น ทรัพย์ และดอกผลของสินส่วนตัวทรัพย์ที่เกิดขึ้น หลังจากจดทะเบียนสมรส (ไม่รวมทรัพย์สินส่วนตัว ทรัพย์สิน) ซึ่ง นิภาจะได้ครึ่งหนึ่งของทรัพย์นั้นๆ
  • ได้รับทรัพย์สินในฐานะ ทายาท ของ ประเสริฐ โดยสัดส่วนของมรดกที่ได้จะเหมือนกับลูก หรือแล้วแต่กรณี

ส่วน อาฉี เมื่อได้รับการยอมรับเป็นบุตรตามกฎหมายจะมีสิทธิรับมรดกได้ เพราะเป็นผู้สืบสันดาน

แต่การแบ่งมรดกทั้งหมดจะง่ายขึ้น ถ้า ประเสริฐ ทำพินัยกรรมไว้ ก็ต้องยึดตามสิ่งที่ระบุไว้ทั้งหมด จะให้ใคร เท่าไร อย่างไรก็ได้ แต่ต้องเขียนตาม วิธีเขียนพินัยกรรม ที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ภาพจาก Shutterstock

แล้วเราจะรู้ได้ไง ว่าอะไรคือ สินสมรส?

สินสมรส คือ มาตราที่ 1474  ได้แก่

  1. ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
  2. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
  3. ทรัพย์ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

ดังนั้นเมื่อสามีภรรยาจดทะเบียนสมรสกันแล้ว เกิดสินสมรสขึ้น ตอนจะหย่าขาดจากกัน หรือจดทะเบียนหย่ากันแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายต้องแบ่งสินสมรสกันคนละครึ่ง

ภาพจาก Shutterstock

แต่ถ้าเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1471 ไม่จำเป็นต้องแบ่งให้อีกฝ่ายเมื่อหย่ากัน ได้แก่

  1. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
  2. ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
  3. ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
  4. ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น

สรุปแล้ว ข้อดีของการจดทะเบียนสมรสคือ มีหลักฐานทางกฎหมายชัดเจนว่า สามีภรรยาคู่นี้มีส่วนร่วมในทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน และยังรองรับว่าบุตรที่เกิดขึ้น เป็นลูกตามกฎหมายของสามี (มีสิทธิในมรดก)

แต่ข้อเสียก็มีอยู่ เพราะเมื่อเกิดหนี้สินขึ้น เช่น กรณีสามีกลายเป็นบุคคลล้มละลาย และสถาบันการเงินจะตรวจสอบไปถึงภรรยา ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบหนี้ที่เกิดขึ้นด้วย

ภาพจาก https://lifestyle.campus-star.com/app/uploads/2018/09/jiranun.jpg

ดูภาพใหญ่ ที่นี่

ส่วนมรดก เมื่อมีคนในบ้านเสียชีวิตทางกฎหมายมีขั้นตอนอะไรบ้าง?

เมื่อมีคนเสียชีวิต นอกจากเคลียร์เรื่องการจัดงานศพ ญาติต้องแจ้งไปที่สำนักทะเบียนอำเภอท้องถิ่น เพื่อแจ้งขอออกใบมรณะบัตร

ส่วนการจัดการมรดก ต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดกขึ้นมา คนๆ นี้จะเป็นคนแบ่งมรดกตามที่ผู้เสียชีวิตทำพินัยกรรม หรือ แบ่งทรัพย์สินตามลำดับขั้นทางกฎหมาย ซึ่ง ศาลจะเป็นผู้ออกคำสั่งจัดตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1649 คือ

  • ผู้ที่เสียชีวิตตั้งผู้จัดการมรดกไว้แล้ว หรือ คนที่ได้รับมรดกมากที่สุด เป็นคนที่มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ (เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการ ถ้ามีคนที่มีส่วนได้เสียในมรดกนนั้นร้องขอขึ้น

ส่วนหน้าที่ของผู้จัดการมรดกอ่านได้ อ่านได้ที่มาตรา 1728 และมาตรา 1732 

สรุป

ไม่ว่าจะจดทะเบียนหรือไม่ แต่การอยู่กิน ที่แสดงถึงการลงทุนร่วมแรงทำมาหากิน ก็ทำให้ทั้งสามีและภรรยามีส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งในทรัพย์สินที่หามาได้ ดังนั้นก่อนทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะโอนที่ดิน กู้หนี้สิน ก็ต้องดูรายละเอียดเรื่องนี้ให้ดี

ส่วนเรื่องการจัดการมรดก อาจแก้ปัญหาด้วยการเขียนพินัยกรรมเพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจน และทำให้การจัดารมรดกง่ายขึ้นด้วย เรื่องเงินจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ถ้าเราไม่วางแผน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา